ศึกษาเรียนรู้

21.8.63

ครูมืออาชีพ

การจัดการเรียนรู้โดยครูมืออาชีพ



        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรมและมีวัฒนธรรมที่ดีในการดำเนินชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ


        ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจและพัฒนาการของผู้เรียน เน้นฝึกทักษะกระบวนการคิด การเผชิญสถานการณ์ การประยุกต์ความรู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้การปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคม การจัดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ครู การเรียนการสอนที่ดีนั้นควรมีความเป็นพลวัตร คือ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ รูปแบบเทคนิค วิธีการ เป็นต้นในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนรู้ควรคำนึงถึงประเด็น
ดังนี้

            ๑. ครูควรศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ถ่องแท้

            ๒. ครูควรวางแผนการเรียนรู้อย่างมีระบบและลำดับขั้นอย่างชัดเจน

            ๓. ครูควรเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

            ๔. ครูควรใช้หลักจิตวิทยาแรงจูงใจให้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

            ๕. ครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และสนุกสนาน

            ๖. ครูควรมีการประเมินการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน

        ประเด็นที่ ๑ ครูมีหน้าที่ในการศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากหลักสูตรนั้นเปรียบเสมือนแสงเทียนนำทางสำหรับครูในการจัดการเรียนรู้ ในหลักสูตรแกนกลางฉบับปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยรายละเอียดที่มีความจำเป็นและสำคัญ อาทิ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะที่สำคัญ เป็นต้น การที่ครูเข้าใจและรู้รายละเอียดดังกล่าวทั้งหมดอย่างเข้าใจจะส่งผลให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่หลักสูตรวางไว้ได้และการจัดการเรียนรู้นั้นจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม

        ประเด็นที่ ๒ ครูควรวางแผนการจัดการเรียนรู้อย่างมีระบบและลำดับขั้นอย่างชัดเจน ดร.สุริน ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กล่าวไว้ในหนังสือการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ว่า ครูที่ดีต้องมีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องมีการนำไปปฏิบัติ การปฏิบัติที่ดีต้องเป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่วางไว้ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่า การวางแผนการจัดการเรียนรู้นั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในบรรดากระบวนการทั้งหมด ครูจำเป็นต้องลำดับขั้นให้ชัดเจนว่าจะสอนอะไรก่อน สอนอะไรหลัง แต่ถึงกระนั้นแผนการจัดการเรียนรู้ควรมีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาสและสถานการณ์จริง ครูจึงควรมีความมั่นใจที่จะเผชิญกับสถานการณ์ในชั้นเรียนได้ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหวังและแผนการจัดการเรียนรู้ที่เตรียมไว้ การปรับแผนนั้นก็เพื่อให้มีความเหมาะสม เนื่องจากวิธีการที่แตกต่างนั้นอาจช่วยให้นักเรียนบางคนสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากประเด็นข้างต้น สิ่งที่ครูต้องคำนึง คือเรื่องของเนื้อหาที่เตรียมมาในแต่ละครั้งของแผนการจัดการเรียนรู้ ต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับเวลา มีความต่อเนื่อง เป็นเอกภาพไปตลอดเวลาของการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนต้องสามารถปฏิบัติกิจกรรมในแผนนั้นได้อย่างครบถ้วน หากครูผู้สอนใช้เนื้อหามาก แต่เวลาน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สัมพันธ์กัน นักเรียนจะเรียนแบบหนักและไม่ได้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองเท่าที่ควร จึงอาจส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเป้าประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ 

        ประเด็นที่ ๓ ครูควรเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นครูควรใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไปในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้งและควรสอนให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ในชั้นเรียนกับชีวิตประจำวันเข้าด้วยกันได้อย่างสมดุล และฝึกให้นักเรียนพัฒนาทักษะกระบวนการคิดทุกรูปแบบ ตามแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของ ดร.วิชัย ตันศิริ กล่าวไว้ว่า กระบวนการเรียนการสอน ควรมุ่งเน้นการแสดงความคิด การฝึกให้ผู้เรียนได้มองกว้างและมองไกล มีความเข้าใจในระดับมหัพภาคและสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ในระดับจุลภาค ยิ่งไปกว่านั้นครูให้ผู้เรียนเข้าใจว่าความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะหนังสือหรือในชั้นเรียนเพียงเท่านั้น

        ประเด็นที่ ๔ ครูควรใช้หลักจิตวิทยาแรงจูงใจให้เป็นและมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากแรงจูงใจนั้นจะนำไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน สิ่งที่ครูจะต้องทำในฐานะผู้นำแนวทางการเรียนการสอน คือ การกระตุ้นให้เด็กๆรู้สึกถึงความต้องการของตน เพราะความต้องการจะนำให้นักเรียนนั้นสนใจและใส่ใจกับบทเรียน จึงสามารถกล่าวได้ว่าแรงจูงใจที่เหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ การสร้างแรงจูงใจในการเรียนที่ดีอีกวิธีการหนึ่งคือ อารมณ์ขัน ในชั้นเรียนนั้นครูควรเล่าเรื่องตลกให้นักเรียนฟังบ้าง การมีอารมณ์ขันจะช่วยทลายกำแพงระหว่างครูกับนักเรียนได้และเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดีอีกด้วย

        ประเด็นที่ ๕ ครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)และบรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere) ซึ่งบรรยากาศทางกายภาพ คือ การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะอาด น่าอยู่ มีสื่อการเรียนรู้ที่ครบครัน พร้อมที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน การอาศัยความร่วมมือในการสร้างบรรยากาศทางกายภาพจากผู้เรียนถือเป็นอีกหนทางหนึ่งในการทำให้ผู้เรียนรู้สึกชอบและต้องการจะอยู่ในชั้นเรียนเพราะเขานั้นได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์รูปแบบของชั้นเรียนของเขาเอง ด้านบรรยากาศทางจิตวิทยา คือ บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกอบอุ่น มีความสบายใจ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีความเป็นกันเอง สำหรับการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองในชั้นเรียนระหว่างครูและนักเรียนนั้นครูควรทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมการสอน

        ประเด็นที่ ๖ ครูควรมีการประเมินการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน ซึ่งการประเมินผลนั้นถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ การจัดการเรียนรู้ รายละเอียดในการประเมินต้องมีให้ครบทุกปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินตัวครู การประเมินตัวนักเรียน การประเมินสื่อสำหรับการจัดการเรียนรู้ การประเมินทั้งสามประการนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการทุกด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านสติปัญญา พัฒนาการด้านสังคม พัฒนาการด้านร่างกายและพัฒนาการด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน

    สิ่งที่ครูต้องประเมินตนเองนั้นควรประกอบไปด้วยการประเมินวิธี ขั้นตอนและเทคนิคการจัดการเรียนรู้เพราะตัวครูนั้นอาจสอนไม่ชัดเจน ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้และอาจขาดความต่อเนื่องของเนื้อหา นอกจากนี้ครูอาจขาดความชำนาญในการสอน ไม่มีความสามารถในการโน้มน้าวความสนใจของนักเรียนให้มีต่อบทเรียนได้ รวมไปถึงครูต้องประเมินความสามารถในการจัดชั้นเรียน การควบคุมชั้นเรียนเพราะครูอาจยังไม่เข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการด้านต่างๆของนักเรียนเท่าที่ควร

    สำหรับการประเมินนักเรียน ครูควรประเมินตั้งแต่ความรู้พื้นฐานที่นักเรียนแต่ละคนมี เนื่องด้วยนักเรียนทุกคนนั้นมีความสามารถในด้านต่างๆแตกต่างกัน ครูอาจต้องช่วยนักเรียนปรับพื้นฐานเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มเพื่อให้เกิดความใกล้เคียง การประเมินนักเรียนจะทำให้ครูรู้ปัญหาการเรียน

    ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องการประเมินคือการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อดูพัฒนาการของนักเรียนและวัดว่านักเรียนได้รับอะไรบ้างจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ครูจัดให้การประเมินสื่อสำหรับการจัดการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง เนื่องจากสื่อการเรียนรู้นั้นต้องสามารถสื่อสารหรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างครูผู้สอนและนักเรียนในการส่งผ่านความรู้จากครูผู้สอนไปยังนักเรียนได้จริงๆ


ยุพิน พิพิธกุล และ อรพรรณ ตันบรรจง (๒๕๓๕ : ๑๖-๑๗)ได้กล่าวถึง


ความสำคัญของสื่อการเรียนการสอน ดังนี้

        ๑. สื่อการเรียนการสอนจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น

        ๒. ช่วยในการสอนนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน เช่น นักเรียนบางคนซึ่งเรียนอ่อน อาจจะต้องใช้รูปภาพ สื่อรูปธรรม หรือชุดการเรียนการสอนรายบุคคล ช่วยให้เขาบรรลุจุดประสงค์ในการเรียน

        ๓. ช่วยสร้างเสริมความสนใจของนักเรียน

        ๔. ประหยัดเวลาในการสอน บางคนกล่าวว่าทำให้เสียเวลาความจริงนั้นไม่เสียเวลาเลย คนที่ว่าเสียเวลาเพราะใช้สื่อการเรียนการสอนไม่เป็น

        ๕. เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่นามธรรมและทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจแน่นแฟ้นและจำได้นาน

        ๖. ใช้สื่อการสอนนั้นเพื่อช่วยในการอธิบายขยายข้อความและสรุปข้อความได้

        ๗. เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีแก่นักเรียน

        ๘. เพื่อเสริมให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

กล่าวโดยสรุปหน้าที่ที่พึงกระทำสำหรับครู มีดังนี้

        ๑. ครูควรศึกษาหลักสูตรแกนกลาง เพื่อรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนต้องสอนอย่างชัดเจน

        ๒. ครูควรวางแผนการเรียนรู้ เพื่อความราบรื่นในการจัดการเรียนรู้

        ๓. ครูควรเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างครบถ้วนทุกคนและมีบทบาทในจัดการเรียนรู้ของตนเองเพื่อสร้างความเข้าใจในบทเรียนที่ยาวนาน

        ๔. ครูควรใช้หลักจิตวิทยาแรงจูงใจให้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้อยู่กับบทเรียนเพื่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

        ๕. ครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และสนุกสนาน เพื่อทำให้นักเรียนรู้สึกถึงความสนุกสนานและความสุขในการได้เข้าร่วมในชั้นเรียน

        ๖. ครูควรมีการประเมินการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน เป็นการตรวจสอบตนเอง นักเรียน สื่อ กระบวนการเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า

    หากครูปฏิบัติได้ตามหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น รากฐานที่มั่นคงแข็งแรงนั้นจะบังเกิดแก่นักเรียนทุกคนและเขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังของชาติที่ดีได้ต่อไปในอนาคต


ที่มา : ธเนศ เจริญทรัพย์. (๒๕๕๗). การจัดการเรียนรู้โดยครูมืออาชีพ. สืบค้นเมื่อ
๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘. จากhttp://www.stou.ac.th/study/sumrit/6-57%28500%29/page6-5-57%28500%29.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น