งานสารเสพติด
การสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เน้นมาตรการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและเป็นระบบต่อเนื่องตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย - อุดมศึกษา ภายใต้กรอบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา
ประเภทของยาเสพติด
- ออกฤทธิ์กดประสาท เช่น ฝิ่น มอร์ฟิ่น เฮโรอีน เซโคบาร์ทิบาท (บาร์บิทูเรต) เหล้าแห้ง หรือโซโคบาล ทำให้ประสาทมึนชา สมอง อารมณ์ จิตใจ เฉื่อยชา
- ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน กระท่อม โคเคน พวกยาม้า ยาขยัน กระตุ้นเร่งประสาททำให้เกิดนิ่ว ตื่นตัว กระวนกระวาย ประสาทไหวตัวอยู่เสมอ
- ออกฤทธิ์หลอนประสาท เช่น แอลเอสดี ทำให้เกิดประสาทหลอนเห็นภาพผิดไปจากปกติ
- ออกฤทธิ์ผสมผสานกัน ทั้งกดประสาท กระตุ้นประสาท และหลอนประสาท เช่น กัญชา
อาการ
- เด็กที่ติดยาเสพติดมีลักษณะอาการที่สังเกตเห็นได้หลายชนิด ทั้งทางด้านร่างกายและพฤติกรรมแสดงออกดังนี้
- หน้าตาเฉยเมยแบบคนที่มีความทุกข์
- ผอมซีด สุขภาพทรุดโทรม
- ความประพฤติเปลี่ยนไป ละเลยกิจวัตรประจำวัน ระเบียบวินัยลดหย่อน
- กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิด ฉุนเฉียว ผิดปกติ โมโหง่า ย
- มีลับลมคมใน ชอบแยกตัวอยู่คนเดียวเงียบๆ
- เบื่อหน่ายการงานและการเรียน ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
- มักมียา อุปกรณ์แปลกๆเก็บไว้ในห้องส่วนตัว
- อาจมีอุปกรณ์เกี่ยวกับยาเสพติด เช่น กระดาษ ตะกั่ว หลอดกาแฟ ไม้ขีด หลอดฉีดยา เป็นต้น
- ใช้เงินเปลืองผิดปกติ มีหนี้สิน บางครั้งขโมย
- สวมแว่นกันแดดตลอดเวลา เพื่อซ่อนแก้วตาที่วาว เบิกกว้างหรือริบหรี่
- ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา เพื่อปกปิดรอยเข็มที่ฉีดยา
- มักชอบอยู่ในห้องเก็บของ ซ่อนตัวอยู่ในห้อง อยู่หลังส้วมเพื่อแอบสูบบุหรี่ เสพยา
- ถ้าอยู่ในห้องเรียน เด็กจะเกียจคร้าน ง่วงหงาวหาวนอน ตาหรี่ เพราะสู้แสงไม่ได้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง
สาเหตุของการติดยาเสพติด
ทางด้านร่างกาย
- การจัดหาหรือซื้อสารเสพติดด้วยตนเองเนื่องจากมีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย
- พวกรักษาตนเอง เช่นประสบอุบัติเหตุแพทย์ให้ยาระงับปวดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ภายหลังได้ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยตนเอง เลยทำให้ติดยาโดยไม่ตั้งใจ
ทางด้านจิตใจ
- พวกบุคลิกภาพผิดปกติ เช่น ต่อต้านสังคม ก้าวร้าว ชอบพึ่งพาผู้อื่น แยกตัวเองหรือซึมเศร้า
- พวกที่มีความกังวลใจ หวาดกลัว หรือป่วยเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตมีอาการนอนไม่หลับ มักใช้ยาเสพติดระงับความรู้สึกจึงทำให้ติดได้
- สภาพครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่เข้าใจกัน เด็กขาดความอบอุ่น หรืออบรมเลี้ยงดูลูก ไม่ถูกต้อง หรือมีคนในครอบครัวติดสารเสพติด
ทางด้านสังคม
- ถูกเพื่อนชวน อยากลอง
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับพวกติดสารเสพติด
- ความกดดันทางสังคม เช่น มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีงานทำ
โทษของการติดยาเสพติด
โทษต่อร่างกายและจิตใจ
- ทำลายประสาทสมอง จิตใจเสื่อม ซึมเศร้า กังวล เลื่อนลอย และเป็นโรคจิตจากพิษยานั้นๆ
- เสียบุคลิกภาพ ขาดความสนใจตนเอง ขาดสติสัมปชัญญะ
- ร่างกายซูบซีด อ่อนเพลีย
- พิษยาทำลายอวัยวะต่างๆให้เสื่อมลง มีโรคแทรกได้ง่าย
- ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะการควบคุมทางกล้ามเนื้อและระบบประสาทบกพร่อง
โทษต่อครอบครัว
- ขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัวและญาติพี่น้อง
- เสียทรัพย์ที่จะต้องซื้อยามาเสพ และรักษาตัว
- ขาดหลักประกันของครอบครัว ทำงานไม่ได้ ไม่เป็นที่วางใจ ของคนทั่วไป นำภัยมาสู่บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง
โทษต่อสังคม
- เป็นภัยต่อสังคม
- มีโอกาสเป็นอาชญากรประเภทลักขโมยได้ง่ายเนื่องจากมีรายจ่ายสูง
โทษต่อส่วนรวมและประเทศชาติ
- เป็นภัยอันตรายต่อผู้อื่น ชุมชนและประเทศชาติ เพิ่มงบประมาณของประเทศในการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษา
- ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ
วิธีการแก้ไข
- การแก้ไขเด็กติดยาเสพติด ต้องการกำลังใจจาก ผู้ปกครองและครูเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ผู้ปกครองและครูจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเด็กของตนให้หายจากการติดยาเสพติดซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้
- สร้างบรรยากาศในครอบครัวให้มีความสุข พ่อแม่ควรปรองดองกัน จะทำให้เด็ก มีความมั่นคงทางจิตใจ รู้สึกอบอุ่น
- พ่อแม่และครูต้องให้ความเป็นกันเองกับเด็ก จะทำให้เด็กแน่ใจว่าผู้ใหญ่พยายาม ที่จะเข้าใจเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือเขาเด็กจะรู้สึกเป็นกันเองที่จะพูดคุยถึงปัญหา ของตนโดยไม่มีการซ่อนเร้นและควรพูดจาซักถามสาเหตุ เวลาที่เสพติดนานแค่ไหน อย่าประนามดุด่าเด็กและควรหาทางช่วยเหลืออย่างรีบด่วน
- อธิบายให้เด็กเข้าใจและรู้โทษตามกฎหมายที่จะได้รับจากการใช้ยาเสพติด
- ให้เด็กได้รู้โทษของยาเสพติด
- ร่วมมือกับครูประจำชั้นเพื่อหาทางแก้ไข เช่นจัดกลุ่มอภิปรายกับเด็กนักเรียน ถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติด ครูที่สนใจปัญหาต่างๆเหล่านี้และรับฟังเด็กด้วยท่าทีที่เห็นใจ จะช่วยเด็กได้อย่างมาก
- จัดกิจกรรมที่เสริมสร้างพลังใจ อารมณ์ ความนึกคิดไปในทางที่มีความหมาย เช่น ชมรมกีฬา ชมรมดนตรี
- พาเด็กไปพบแพทย์ตามสถานที่รับรักษาผู้ติดยาเสพติด หรือสถานที่บางแห่งรักษาด้วยสมุนไพรเช่น ที่ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี
- ควรแยกเด็กจากสิ่งแวดล้อมเดิมหรือให้ห่างจากเพื่อนที่ติดยาเสพติดด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเสพอีก
- อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าการเลิกยาเสพติดนั้นอยู่ที่การตัดสินใจของเขาเอง เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง การที่เขาเลิกยาเสพติดได้จะทำให้อนาคตของเขาดีขึ้น
การติดยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน มักจะเนื่องมาจากครอบครัว ไม่เป็นสุขมีความขัดแย้ง หรือปล่อยปละละเลยจนถูกชักจูงไปเสพได้ง่าย หรือใช้ยาเสพติดเป็นทางออกของชีวิต การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ในครอบครัว การให้ความรักความเข้าใจ แก่เด็กและเยาวชนบุตรหลานของท่าน อย่างมีเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะเป็นการป้องกันปัญหาการติดยาเสพติดได้
นอกจากนั้นครูก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ถ้าครูให้ความสนใจต่อเด็กบ้างทักทาย ถามปัญหา ถึงแม้บางครั้งจะช่วยได้ไม่มาก แต่ครูก็สามารถที่จะแนะนำเด็กในทิศทางที่ถูกต้องและควร จะหาใครให้ช่วยเหลือ
ครูที่เข้าใจและเห็นใจเด็กจะเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ในแบบฉบับที่เป็นจริง ที่เด็กจะได้พึ่งพิงและเอาเยี่ยงอย่าง ไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ในโลกสมมุติเหมือนที่เด็กใช้ยาเสพติด เพื่อสร้างภาพเงานั้นขึ้นมา
ผู้รวบรวมและเรียบเรียง: อัญชลี จุมพฎจามีกร
ผู้ให้คำปรึกษา: ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์
ทำไมผู้ติดยาเสพติดถึงเป็นผู้ป่วย เพราะ
- ผู้ติดยาเสพติดจะมีภาวะ “สมองติดยา” เกิดแรงกระตุ้นจนนำพาไปสู่ความอยากยา มีความจำเป็น ต้องหายาเสพติดเพื่อนำมาเสพ เมื่อเสพแล้วจะมีความสุข
- ภาวะสมองติดยา มีระยะเวลาในการป่วยของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับชนิดของสารเสพติดแต่ละตัวและปริมาณการใช้ รวมถึงปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย
- ภาวะการติดยาเสพติด สามารถรักษาได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา และความเข้าใจของครอบครัว ชุมชน
- ปัญหาการกลับไปเสพติดซ้ำเกิดจากผลกระทบทางด้านจิตใจ ครอบครัวขาดความอบอุ่น ร่างกายและจิตใจไม่เข้มแข็งพอ
นโยบายผู้เสพ คือ ผู้ป่วย
รัฐถือว่า ผู้เสพทุกคน เป็นผู้ป่วย และจะให้โอกาสในการบำบัดรักษา รวมถึงดูแลช่วยเหลือให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข การเสพยาเสพติดเป็นความผิดตามกฎหมายมีโทษถึงจำคุก โดยรัฐบาลได้ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติด ทุกคนเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ โดยไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากพบผู้ใกล้ชิด ใช้ยาเสพติดขอให้ทำความเข้าใจ และแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) รวมถึง โรงพยาบาลเฉพาะทาง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 7 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่ง
ขั้นตอนการบำบัดรักษา มี 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการ (Pre-Admission) ได้แก่ ขั้นตอนการสอบถามอาการ การตรวจร่างกายการประเมินคัดกรอง และการนัดหมายให้เข้ารับการบำบัด
2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการบำบัดอาการทางกายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ขึ้นอยู่กับสภาพการเสพการติด
3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เป็นการปรับสภาพร่างกายจิตใจ และสังคมของผู้เลิกยาให้มีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและพฤติกรรม ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข
4. การติดตามดูแล (Aftercare) เป็นการติดตามดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง ๓ ขั้นตอนแล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด
รูปแบบการบำบัดรักษา
เน้นนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย โน้มน้าว/ชักชวน/จูงใจให้ผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ โดยสถานพยาบาลในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต ในพื้นที่ ดำเนินการคัดกรองโดยใช้แบบคัดกรองผู้ป่วยที่ใช้ยาและสารเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (V2) เพื่อจำแนกผู้ป่วยยาเสพติดเป็นกลุ่มผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติด และดำเนินการบำบัดฟื้นฟูหรือส่งต่อตามสภาพการเสพติด ภายใต้มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้
1) กรณีผู้ใช้ : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต ด้วยการให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพ (Health Education & Promotion) การให้คำแนะนำแบบสั้น (Brief Advice : BA) หรือการบำบัดแบบสั้น (Brief Intervention : BI) อย่างน้อย 1 ครั้ง และการช่วยเหลือของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน รวมถึงการบำบัดโรคร่วมทางจิตเวช (ถ้ามี)
2) กรณีผู้เสพ : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต การบำบัดในรูปแบบ ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
3) กรณีผู้ติด : ให้การบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต
สถานที่ในการบำบัดรักษา
ผู้ที่ใช้ยาเสพติดหรือผู้ปกครองหรือครอบครัวนำผู้เสพซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นผู้ป่วยเข้ามารับการบำบัดรักษา ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่มีอยู่กว่า หนึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ที่มีอยู่ ๗ แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี และโรงพยาบาล ในสังกัดกรมสุขภาพจิตจำนวน 16 แห่ง
เตรียมตัวอย่างไร
ขั้นตอนในการเตรียมตัว สำหรับผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ดังนี้
1) เตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล ซึ่งทั้งผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจขั้นตอนการบำบัดรักษา ว่ามีแนวทางอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร
2) เตรียมเอกสารที่แสดงตัวตนของผู้ป่วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่ายของผู้ป่วยติดไว้
3) การบำบัดรักษายาเสพติดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าหากมีโรคร่วมโรคแทรก เช่น วัณโรค ท้องเสีย ไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพหรือบัตรทอง บัตรประกันสังคม ร่วมได้ในสถานพยาบาลตามที่ระบุในบัตร
ผู้เสพยาเสพติดและญาติที่สนใจจะส่งบุตรหลานเข้ารับการรักษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง
กรณีพบผู้เสพที่มีอาการคลุ้มคลั่งอาละวาด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
กรณีพบเบาะแสยาเสพติด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น