ศึกษาเรียนรู้

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทความ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทความ แสดงบทความทั้งหมด

15.6.66

พิธีไหว้ครู

 พิธีไหว้ครู

ในพานพิธีวันไหว้ครู   มักจะประกอบไปด้วย ธูป เทียน และดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ ที่ขาดไม่ได้ในพานไหว้ครู คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก และดอกเข็ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความหมายเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น

ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ  นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่   เช่นเดียวกับหญ้าแพรก

หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม  แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกและดอกมะเขือในวันไหว้ครูจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว  สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง

ดอกเข็ม   เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม

ข้าวตอก   เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะมีความซุกซน ความเกียจคร้าน เป็นสมบัติมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม เมื่อมีความต้องการศึกษาหาความรู้ เขาก็ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบหรือในกฎเกณฑ์ที่สถาบันได้กำหนดไว้   ใครก็ตามหากตามใจตนเอง  ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก

          เรื่องราวของวันไหว้ครูอย่าลืมแวะกลับไปเยี่ยมครูเก่าๆ ที่เคยสั่งสอนเราก็ได้ กลับไปเยี่ยม ถามไถ่สารทุกข์ดิบกันเล็กน้อย อย่างน้อยท่านก็เป็นคนหนึ่งที่พาเราเดินไปสู่ทางแห่งความสำเร็จ

2.3.65

เดินไปกับอีกสองคน

C:\Users\Sungmen\My Drive\0บริหารการศึกษา\0000ขงจื้อ\ขงจื้อ.jpg

“ เดินไปกับอีกสองคน ย่อมมีครูเราอยู่ด้วย เลือกข้อดีของเขาแล้วเอาอย่าง พิจารณาข้อบกพร่องของเขาแล้วปรับปรุงตน”.....ขงจื้อกล่าวไว้


1.3.65

กินข้าวหม้อเดียวกัน

 กินข้าวหม้อเดียวกัน

 

กินข้าวหม้อเดียวกัน เป็นสำนวน  มีความหมายว่า  กินข้าวที่หุงในหม้อใบเดียวกัน สำนวนนี้มาจากพฤติกรรมของคนที่อยู่เป็นครอบครัว  ย่อมจะกินข้าวจากหม้อที่หุงครั้งเดียวในแต่ละมื้อ  บางคนกินวันละมื้อเดียว แต่บางคนก็กินหลายมื้อ  คนที่กินข้าวจากหม้อเดียวกัน  คือ  คนในครอบครัวเดียวกัน  ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเล็กที่มีเพียง พ่อ แม่ ลูก หรือครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าตายาย และลุงป้าน้าอา อยู่ด้วย ก็ตาม 

  คนในครอบครัวเดียวกันควรรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกัน  ไม่แตกแยกทะเลาะเบาะแว้งกัน    ในบางครั้งอาจนำคำว่า กินข้าวหม้อเดียวกันมาใช้เป็นสำนวน  ในความหมายที่กว้างขึ้น   หมายถึง คนที่อยู่ในคณะเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และผูกพันกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  เช่น  เราเป็นลิเกคณะเดียวกันบทบาทคนละบทบาท  กินข้าวหม้อเดียวกันก็ต้องรักใคร่กลมเกลียวกัน


ซุนกวน

 ซุนกวน

  ซุนกวน  เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดในสามก๊ก สืบทอดอำนาจมาจากพ่อและพี่ชาย มีความสามารถในการบริหารผสมผสานทีมงานต่างรุ่นตั้งแต่รุ่นเก่าไปจนถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรักษาความเข้มแข็งของก๊กที่รวมเหล่าเก่งไว้มากมาย ทั้งขุนพล แม่ทัพ และที่ปรึกษา มากกว่าผู้นำคนใดในสามก๊ก ถึงกับได้รับการยกย่องจากโจโฉว่า มีลูกชายต้องมีให้ได้อย่างซุนกวน    

  ซุนกวน เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ จุดเด่นจึงไม่ได้อยู่ที่การนำทัพออกรบ แต่เน้นการบริหารทีมงานให้เกิดความสามัคคี ด้วยนโยบายการบริหารคน คือ วัดคนที่ความสามารถ ไม่ถือรุ่น ไม่ถืออายุ รู้จุดเด่นจุดด้อยของลูกน้อง ส่งเสริมการพัฒนาตนเอง ดังนั้น แนวทางการบริหารของซุนกวนจึงต่างจากผู้นำเผด็จการของโจโฉ และแบบของเล่าปี่ที่มีขงเบ้งเป็นซีอีโอ   ตรงที่ซุนกวนจะให้มีการประชุมขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู้ เปรียบเสมือนคณะที่ปรึกษา โดยให้ทุกฝ่ายนำข้อมูลเหตุผลมาวิพากษ์วิจารณ์และถกประเด็นกัน ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของซุนกวน แต่ด้วยจุดอ่อนที่เป็นคนตัดสินใจไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อเจอกับเหตุการณ์คับขัน และต้องแบกรับภาระดูแลกิจการของครอบครัวไม่ให้ล้มละลาย การตัดสินใจจึงต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขความอยู่รอดเป็นหลัก ทำให้ไม่มีทิศทางการเมืองที่ชัดเจน หวังเพียงแค่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่พลิกผันตลอดเวลา