ศึกษาเรียนรู้

29.8.62

กาลามสูตร


กาลามสูตร



        เรื่องกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้สอนชาวกาลามชนเอาไว้ ถ้าได้พิจารณาในเหตุผลแล้วนำมาเป็นข้อปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เพราะ พวกกาลามชนนั้นเชื่ออะไรไม่มีเหตุผล เคยเชื่ออะไรกันมาแต่โบราณก็พากันเชื่อถือมาอย่างนั้น ไม่ยอมแก้ไขปรับปรุง ด้วยเหตุผลแต่อย่างใด โบราณทำกันอย่างไร ก็พากันทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงเตือนสติ ให้ข้อคิดด้วยเหตุผลแก่คนเหล่านั้น ดังนี้
๑. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่าได้ฟังตาม ๆ กันมา ได้ยินได้ฟังในสิ่งไหนเรื่องอะไร ต้องเอาเรื่องนั้นมาคิดพิจารณาด้วยปัญญา หาเหตุผล มาเป็นองค์ประกอบ ว่าสิ่งใดเรื่องอะไรที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วมีเหตุผลพอเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ให้ใช้หลักความจริงมาเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาด ใช้ปัญญาวิจัยวิเคราะห์ให้ดี สิ่งใดมีเหตุผลพอเชื่อถือได้จึงเชื่อ สิ่งใดไม่เป็นไปในเหตุผลอย่าไปเชื่อในสิ่งนั้น ๆ ต้องใช้ปัญญา พิจารณาทบทวนหลายครั้งหลายหน จนเกิดความมั่นใจว่าเรื่องนั้นควรเชื่อถือได้ เรื่องนี้ไม่ควรเชื่อถือ จึงตัดสินใจเชื่อ หรือไม่เชื่อในภายหลัง

ในสมัยครั้งพุทธกาล ความเชื่อถือมีหลายรูปแบบ เพราะได้ยินได้ฟังคนยุคก่อน ๆ เล่าเอาไว้ คนยุคใหม่ก็เล่าต่อ ๆ สืบกันมา ไม่ทราบว่าเรื่องนั้นเล่าต่อกันมากี่ชั่วคน เหตุผลพอเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ไม่มีใครนำมาคิดพิจารณาแต่อย่างใด ความเชื่อถือนี้มีมายาวนาน เมื่อพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นมาในโลกแล้วก็ตาม ความเชื่อที่เก่าแก่ก็เล่าขานสืบต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน เช่น เรื่องราหูอมจันทร์ ถ้ามนุษย์ไม่ให้ความช่วยเหลือ โลกมนุษย์จะเกิดภัยพิบัติล่มจมหายนะไป มนุษย์จึงได้ตีฆ้อง ตีกลอง ยิงปืน หรือทำอะไรให้เกิดเป็นเสียง ให้ราหูเกิดความตกใจกลัว แล้วดวงจันทร์ออกหนีไป และมีเรื่องอื่น ๆ อีกมายมายไม่จำเป็นจะนำมาเขียนในที่นี้ มันจะเป็นหนังสือเล่มใหญ่เกินไป

ความเชื่อถือนี้ แต่ละยุคก็มีความแตกต่างกันออกไป ในยุคสมัยใด จะมีผู้สมองใส กุเรื่องขึ้นมาหาเหตุผล มาประกอบกันกับเรื่องที่สร้างขึ้น โน้มน้าวให้คนหัวอ่อนเกิดความเชื่อถือได้ เช่น เรื่องบูชาไฟ บูชายัญ ฆ่าสัตว์เอาเลือดบูชาแม่กาลี เพื่อเป็นมงคลอย่างนั้นอย่างนี้ หรือกลุ่มนักพรต ก็เชื่อว่าการแก้ผ้าเปลือยกายจะละกิเลสได้ นอนบนขวากหนาม นอนย่างไฟให้กิเลสได้แห้งไป และมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย ที่นักพรตเหล่านั้นเชื่อว่า จะละกิเลสได้ นั้นเป็นเรื่องที่นอกพุทธศาสนา แต่ให้เราได้สังเกตความเชื่อถือของชาวพุทธที่กำลังภาวนาหาวิธีที่จะละอาสวกิเลสในยุคนี้ดูบ้าง คนส่วนใหญ่ของชาวพุทธ มีความเชื่อว่า การภาวนาทำสมาธิให้จิตมีความสงบแล้ว จะเกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ก็จะไปละกิเลสตัณหา ให้หมดไปจากใจเอง เมื่อกิเลสตัณหาถูกปัญญาได้ละไปหมดแล้ว ก็จะเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติ จะมีความเข้าในในลักษณะนี้ เหมือนกับว่า คำบริกรรมทำให้จิตมีความสงบได้แล้วจะเป็นไสยศาสตร์ สามารถที่จะให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ และเข้าใจว่าจะเป็นเหมือนคาถาอาคมเวทมนตร์ มีความหวังว่าจะเกิดอิทธิฤทธิ์อภินิหารกำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไป ทั้งที่ตัวเองยังงี่เง่าเต่าตุ่น ไม่รู้จักในสัจธรรมแต่อย่างใด ความเชื่อถือที่สืบต่อกันมาอย่างนี้ ก็จะเหมือนกันกับพวกกาลามชนเหล่านั้น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้เตือนสติว่า

อย่าไปเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น จะเชื่อถือในสิ่งใดต้องใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งนั้น ๆ ด้วยเหตุและผลให้เป็น ศรัทธาญาณสัมปยุต จะเชื่อในสิ่งใด ต้องใช้ปัญญาวิจัยวิจารณ์ให้แยบคาย ให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ มิใช่ว่าจะเชื่อสักว่าฟังตาม ๆ กันมาว่า ภาวนาอย่างนี้จะถูกต้อง ไปเสียทั้งหมด ให้ศึกษาประวัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัทในสมัยครั้งพุทธกาลให้เข้าใจ ไม่เช่นนั้น จะเป็นผู้เชื่ออะไรที่งมงายต่อไปโดยไม่รู้ตัว จะเหมือนกับพวกกาลามชนเหล่านั้น

๒. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ของเก่าที่ทำตาม ๆ สืบต่อกันมา นี้ก็เช่นกัน ประเพณีนิยมที่พวกเราทั้งหลายได้ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ก็พากันถือว่า เป็นเรื่องเก่าแก่ทำกันมาแต่โบราณ ถึงปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่ยังทำสืบทอดกันมาจนถึงพวกเรา และจะทำต่อ ๆ กันไปในอนาคตอีกยาวนาน ทำกันมาอย่างไร ก็พากันทำต่อไปอย่างนั้น เพราะ ถือว่าเป็นของเก่า ไม่มีใครที่จะกล้าแก้ไข ถ้าผู้ได้อ่านประวัติที่พระพุทธเจ้า ได้สอนพุทธบริษัท ในสมัยครั้งพุทธกาลที่มีผู้ปฏิบัติตามได้มรรคผลนิพพานผ่านไปแล้ว การปฏิบัติวิธีเก่า ตามที่พระพุทธเจ้าได้อบรมสั่งสอนพวกเราก็จะเกิดความปีติยินดี แต่กลับพากันไปชอบของเก่า ในวิธีปฏิบัติ ของพวกดาบสฤๅษี เมื่อปฏิบัติตามพวกฤๅษี แต่ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นวิธีปฏิบัติ ที่เป็นไปไม่ได้ แต่พวกเราก็คิดว่า จะเป็นไปได้ นี้คือไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลมาเป็นเครื่องตัดสิน จึงไม่เข้าใจในของเก่า ที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ พระองค์ได้วาง หลักปัญญาเป็นจุดเริ่มต้น ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย มีปัญญาความเห็นชอบ ที่ประกอบไปด้วยเหตุและผล มีปัญญา ดำริ พิจารณา แยกแยะวิจัยวิจารณ์ในหมวดธรรมต่าง ๆ ให้เข้าใจ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ พิจารณาให้เกิดความแยบคาย หายสงสัยในสิ่งนั้น ๆ ให้ชัดเจน

การเชื่อถือในของเก่านั้น ต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า ของเก่าอย่างไหนพอเชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ให้เข้าใจในความเป็นจริง สิ่งนี้มีเหตุเป็นอย่างนี้และผลที่จะเกิดตามมาเป็นอย่างนี้ มองเหตุไปหาผลให้ตรงกันกับความเป็นจริง มิใช่ว่าจะทำเหตุอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดผลเป็นอีกอย่างหนึ่ง ใช้ไม่ได้เลย เช่น ทำสมาธิ จิตมีความสงบแล้วจะเกิดปัญญา เป็นต้น ที่จริงความสงบของสมาธิ จะมีผลไปในทางฌานสมาบัติ ที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน เกิดเป็นอภินิหารต่าง ๆ หรือเกิดอภิญญา เช่น มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ รู้วาระจิตของคนอื่นบ้าง มีฤทธิ์บ้าง รู้จักจิตวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว รู้จักภพชาติในอดีตว่าเคยเกิดเป็นอะไรมา นี้เป็นผลที่เกิดจากสมาธิ ความสงบ มิใช่ว่าจิตมีความสงบแล้วจะเกิดปัญญาดังที่เข้าใจ เหตุที่จะให้เกิดปัญญา มาจากการพิจารณา ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความฉลาด รอบรู้ในหลักสัจธรรม ดังที่พูดกันอยู่เสมอว่า มีปัญญาตรัสรู้อริยสัจสี่แจ้งประจักษ์โดยลำพังด้วยพระองค์เอง คำว่ามีความสงบ ตรัสรู้ อริยสัจสี่ จะมีมาจากที่ไหน ฉะนั้น ความเชื่อถือในของเก่า ปฏิบัติตามของเก่า พวกเราได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หรือปฏิบัติตามของเก่า ของพวกฤๅษีกันแน่ จงใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจในเหตุผล ไม่เช่นนั้น จะเป็นมิจฉาปฏิบัติไปโดยไม่รู้ตัว

๓. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า กิตติศัพท์อันเป็นข่าวเล่าลือ นี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่พวกเราทั้งหลายควรนำมาพิจารณา คำว่า ข่าวเล่าลือเป็นได้ทั้งจริงหรือไม่จริง พอเชื่อถือได้และเชื่อถือไม่ได้ เช่น เล่าลือว่า พ.ศ. เท่านั้นโลกจะเกิดภัยพิบัติ โลกจะพินาศ น้ำจะท่วม หาที่อยู่ไม่ได้ สัตว์และหมู่มนุษย์จะล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก จะเกิดความอดอยากข้าวปลาอาหารไปทุกแห่งหนของโลก ข่าวเล่าลือนี้ จะเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุผลว่าข่าวอย่างนี้มีเหตุผลพอเชื่อถือได้หรือไม่ได้ มิใช่ว่าได้ยินข่าว เล่าลือมาอย่างไร จะเชื่อไปเสียทั้งหมด ต้องฝึกนิสัยตัวเองให้เป็นผู้หนักแน่น พิจารณาในเหตุผลก่อน ว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร จึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง หรือได้ทราบข่าวว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นที่ไหน ก็เชื่อว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นผู้หูเบาใจง่าย งมงาย เชื่ออะไรที่ขาดเหตุผล และข่าวเล่าลืออื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าจะมีอีกมาก มีทั้งข่าวดีและข่าวไม่ดี ข่าวอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อในทันที ต้องมีการพิสูจน์ให้รู้ความจริง จึงเชื่อในภายหลัง ต้องฝึกตัวเองให้มีเหตุผลด้วยสติปัญญาเฉพาะตัว มิใช่ว่าจะเอาคนอื่นเป็นผู้ชี้แนะบอกกล่าวให้เชื่อ ความเชื่อหรือไม่เชื่อ ต้องมีเหตุผลเฉพาะตัว จึงเรียกว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

ความเชื่อถือในข่าวลืออีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องบุญกุศล เช่น ได้เห็นของแปลกในการปฏิบัติรูปแบบใหม่ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วจะได้รับผลเป็นอย่างนั้นอย่านี้ ก็เล่าลือกันไป เฉพาะผู้มีความฝักใฝ่ในบุญกุศล ใจจะคล้อยไปตามข่าวเล่าลือได้ง่าย เพราะเป็นผู้มีความหิวกระหายในบุญกุศลอยู่แล้ว เมื่อได้ทราบข่าวเล่าลือว่าพระผู้มีคุณธรรมสูงมีอยู่ที่ไหน ก็พากันไปเพื่อกราบไหว้บูชา เพื่อให้เกิดเป็นบุญกุศล จะเป็นอรหันต์พระบ้าง อรหันต์เณรบ้าง ตลอดฆราวาสผู้มีความตั้งใจในการปฏิบัติอยู่ ข่าวลือในลักษณะอย่างนี้ ก็ยังไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าเรามีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ก็จะเกิดเป็นบุญกุศลแก่ตัวเราเอง ส่วนพระอรหันต์องค์จริงนั้น ก็เชื่อถือไปตามข่าวเล่าลืออีกเช่นกัน องค์ไหนที่เรามีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ก็ชอบยกขึ้นว่าองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ไป ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นองค์จริงบ้าง องค์ปลอมบ้าง องค์ไหนที่เราไม่มีความเคารพเลื่อมใสไม่เชื่อถือ ถึงองค์นั้นจะเป็นพระอรหันต์องค์จริง แต่เราก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง มิหนำซ้ำยังแสดงความประมาทก้าวร้าวให้แก่ท่านไปด้วย ฉะนั้น พวกเราได้รับข่าวเล่าลือมาอย่างไร ก็ให้ศึกษากรองข่าวนั้นให้ดี อย่าเป็นนิสัยเชื่ออะไรที่งมงาย ไม่เช่นนั้น จะเป็นเหมือนสัตว์ทั้งหลายตื่นข่าวไปตามกระต่ายตื่นตูม ให้ฝึกใจเหมือนกับราชสีห์ มีอะไรเกิดขึ้นต้องพิสูจน์ให้รู้เห็นความจริงในสิ่งนั้น ๆ

๔. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า อ้างมาจากตำราหรือคัมภีร์ นี้ก็เช่นกัน นิสัยของคนเราชอบอ้างถึงตำรา เหมือนกับว่า เรื่องไหนมีตำรา จะเข้าใจว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด หนังสือตำราว่าอย่างไรก็เชื่อกันไปอย่างนั้น ทั้งตำราในทางโลก และตำราในทางธรรม ตำรานั้นเขียนออกมาตามความรู้ของผู้เขียน เราเป็นผู้อ่านก็เพียงให้เป็นความรู้เท่านั้น เมื่อจะจำมาปฏิบัติ ก็เอาความรู้นั้นมาพิจารณา อีกครั้งหนึ่ง ว่าประโยคและความหมายในตำรานั้นมีเหตุผลพอเชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าปฏิบัติไปตามตำราแล้วจะเกิดผลออกมาอย่างไร ต้องใช้วิจารณญาณ กลั่นกรองด้วยเหตุผลให้ละเอียด ว่าตำราไหนพอจะเชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ ต้องวิจัยวิเคราะห์ใคร่ครวญ ตรึกตรองให้ดี เฉพาะทางธรรม มีผู้เขียนเป็นตำราออกมาให้คนอ่านมากมาย มีทั้งหนังสือเก่าและหนังสือใหม่เต็มไปหมด มีทั้งพระและฆราวาส ก็มีความสามารถเขียนหนังสือธรรมะได้เช่นกัน พร้อมทั้งหลักการและวิธีการในการปฏิบัติมีเหตุผลเหมือนกัน เมื่ออ่านแล้ว ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ก็น่าเชื่อถือได้ มีทั้งพระอริยเจ้าเขียนและปุถุชนเขียน หลายประโยค หลายความหมาย มีเหตุผลเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง ส่วนมากผู้อ่าน จะให้ความเชื่อถือในตำราสมัยเก่า ถึงจะผิดในหลักความเป็นจริงก็เชื่อว่าเป็นความจริงอยู่นั่นเอง หนังสือนักปราชญ์ยุคใหม่ ถึงจะจริง ก็ยังไม่รับว่าจริง เพราะไม่ใช้เหตุผลในหลักความจริงมาเป็นหลักตัดสิน ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพียงสักว่านี้อ้างมาจากตำรา หรือคัมภีร์ ทำไมเราไม่เอามาพิจารณาดูบ้าง ในความหมายนี้ พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้คนเชื่อด้วยเหตุผล ไม่ให้เชื่อโดยผูกขาด ว่านี้เป็น ตำราเก่า หรือตำราใหม่ ให้มีความมั่นใจในเหตุผลและความหมายในหลักความเป็นจริงเท่านั้น เช่น ตำราว่าทำสมาธิให้จิตมีความสงบแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้น ในหลักความเป็นจริงในสมัยครั้งพุทธกาล พระองค์ทรงสอนอย่างนี้จริงหรือไม่ ถ้าได้อ่านประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยพุทธกาล ว่าท่านเหล่านั้นบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติอย่างไร เริ่มต้นในการปฏิบัติอย่างไร เราจะเข้าใจได้ทันที พระอริยเจ้าในสมัยนั้น รวมทั้งพระ เณร ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ต่ำไปกว่าแสนองค์ขึ้นไป พระพุทธเจ้าไปแสดงโปรดสัตว์ที่ไหน ให้พุทธบริษัทปฏิบัติในลักษณะใด จึงได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ ประวัติในพระสูตรมีมากมาย ทำไมไม่อ่านดูบ้าง ทุกสถานที่มีพุทธบริษัทมาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงยกสัจธรรม อันเป็นความจริงขึ้นมาแสดง ให้พุทธบริษัท ใช้สติปัญญา พิจารณาให้รู้เห็น ตามหลักความเป็นจริง ทั้งนั้น ในหลักของมรรค ๘ พระองค์ก็ยกปัญญาขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้น นั้นคือ สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป การดำริพิจารณาด้วยปัญญา ให้ถูกต้องชอบธรรมตามหลักความเป็นจริง มิใช่หรือ ทำไมจึงไม่อ่านตำรา ดูประวัติความเป็นมา ในสมัยครั้งพุทธกาลบ้าง ว่าพระพุทธเจ้าสอนพุทธบริษัทให้ปฏิบัติกันมาอย่างไร เริ่มต้นจากปฐมสาวก เช่น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า พระยสกุลบุตรพร้อมด้วยหมู่คณะ ภัททวัคคีย์ที่ตามหาหญิงแพศยา ชฎิลสามพี่น้องพร้อมด้วยหมู่คณะ พร้อมด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ และองค์อื่น ๆ อีกมากมาย หรือบริวารของพระเจ้าพิมพิสาร จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน ได้บรรลุธรรม ๑๑๐,๐๐๐ คน นอกนั้น ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ ประวัติผู้ได้บรรลุธรรมในครั้งพุทธกาลมีจำนวนมาก การปฏิบัติเริ่มต้นจากปัญญา ความเห็นชอบ ด้วยกันทั้งนั้น การทำสมาธิให้จิตมีความสงบ ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ให้ทำ ใครจะมีคำบริกรรมอะไรก็ทำกันไป จิตจะมีความสงบ ในสมาธิในระดับไหนทำไป จะทำให้จิตมีความสงบอยู่นานกี่ชั่วโมงก็ทำไป จะได้เป็นกำลังใจหนุนปัญญาได้เป็นอย่างดี ที่ปฏิเสธนั้น คือสมาธิความสงบนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด แต่สมาธิทำให้ใจเกิดมีกำลังใจที่เกิดจากสมาธินี้ นำไปประกอบ ในอุบายเสริมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเท่านั้น เพราะสมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กัน เป็นกำลังหนุน ซึ่งกันและกัน ใครจะใช้ปัญญามาก ทำสมาธิน้อย หรือใช้ปัญญาน้อย ทำสมาธิมากนั้น ให้เป็นไปตามนิสัยของแต่ละคน ผู้มีนิสัย ทางปัญญาวิมุต ิจะใช้ปัญญามากทำสมาธิน้อย ผู้มีนิสัยทางเจโตวิมุติจะใช้ปัญญาน้อยทำสมาธิมาก ถึงอย่างไร ก็เริ่มต้นจากปัญญา ความเห็นชอบอยู่นั่นเอง ลำพังทำให้จิตมีความสงบในสมาธิเพียงอย่างเดียว การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้าแต่อย่างใด จะวกไปเวียนมา เหมือนกับคนตาบอดพายเรืออยู่ในสระ ถึงจะมีประตูเปิดอยู่ก็จะไม่รู้เห็นทางออกแต่อย่างใด หรือเหมือนกับ ผู้มีเงินอยู่ในตัวแล้ว แต่ไม่มีร้านอาหารซื้อรับประทาน เงินจะเกิดเป็นอาหารให้เรารับประทานได้อย่างไร หรือเหมือนกับมีปากกาอยู่ในมือ แต่ไม่มีกระดาษ เป็นที่รองรับให้เขียน ตัวหนังสือก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงจะมีกระดาษรองรับให้เขียนอยู่ก็ตาม ถ้าเขียนหนังสือไม่เป็น ปากกาที่มีอยู่ก็สักว่ามีเท่านั้น นี้ฉันใด กำลังใจที่เกิดขึ้นจากสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานรองรับเอาไว้ กำลังใจจะไปคิดพิจารณาด้วยปัญญาไม่ได้เลย มีแต่ความพอใจยินดีอยู่ในความสงบสุขของสมาธิต่อไปเท่านั้น ถ้าผู้มีความชำนาญในฌานสมาบัติก็เข้าอยู่ในฌานต่อไป นี้ก็เพราะไม่ได้ฝึกปัญญารองรับสมาธิเอาไว้ กำลังใจที่เกิดจากสมาธิ ก็ทำอะไรไม่ได้เลย อีกไม่นาน กำลังใจที่เกิดจากสมาธิก็เสื่อมลง แล้วก็นึกคำบริกรรมทำสมาธิใหม่ ก็เป็นไปในรูปเก่าอีก จะมีการวกวนกันอยู่อย่างนี้ จะหาทางออกไม่ได้เลย ตำราที่ว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ มีความสงบดีแล้วจะเกิดปัญญาขึ้น ตำรานี้ผิดหรือถูก ให้ผู้ปฏิบัติได้พิจารณาดูก็แล้วกัน ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าผูกขาดอ้างตามตำราจนเกินไป ในความหมายของนักปราชญ์ ท่านว่า การปฏิบัติ อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำรา ให้เราได้พิจารณาในเหตุผลนี้ก็แล้วกัน ถ้าตีความหมายนี้ได้ ผู้นั้นจะรู้วิธีในการปฏิบัติอย่างชัดเจนทีเดียว เช่น มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้วอย่างตายตัว พระพุทธเจ้าทรงมีพระญาณ รู้เห็นแนวทางปฏิบัติ ที่จะเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ได้เป็นอย่างดี ผู้รับสนองพระธรรม ของพระพุทธเจ้ากลุ่มแรกคือปัญจวัคคีย์ทั้งห้าท่าน พระองค์ทรงอธิบายในวิธีปฏิบัติในมรรค ๘ อย่างละเอียดถี่ถ้วน วางรากฐานของ การปฏิบัติไว้แล้วเป็นอย่างดี พระองค์ก็มีวิธีเปลี่ยนความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ให้กลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม พระองค์จึงได้วางหลักปัญญาไว้ในเบื้องต้น ที่ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปโป นี้เป็นหลักของปัญญา เมื่อปัญญาสัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบแล้ว พระองค์ก็ได้วางในวิธีรักษาศีล ที่ว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นี้คือหมวดของศีล ก็เอาปัญญาสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบนั้นแหละมารักษาศีล เรื่องการทำสมาธิ พระองค์ก็วางแนวทาง วิธีทำสมาธิไว้แล้วเป็นอย่างดี เช่น สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นอุบายวิธีทำสมาธิ พระองค์ก็ได้วางทิศทาง การปฏิบัติไว้แล้ว อย่างชัดเจน ก่อนทำสมาธิก็ใช้ปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มาศึกษาในวิธีทำสมาธิให้เข้าใจ ถ้าจะเรียบเรียงตามคำสอน ของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักเดิม จะออกมาเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ
ในยุคนี้สมัยนี้ที่ทุกคนได้อ่านรู้ในตำราในคำว่า สิกขา ๓ และรู้กันทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ย่อมาจากมรรค ๘ หมวดเดียวกัน จะเป็นเหตุให้ข้าพเจ้า เป็นผู้มีปัญญาน้อย ไม่สามารถล่วงรู้ได้ ขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้พิจารณาดูก็แล้วกัน ถ้าออกมาในหมวดการศึกษา ในภาคปริยัติก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าจะนำมาปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าไม่สอดคล้องกัน ไม่เหมือนหลักเดิมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ฉะนั้น ตำราที่ศึกษาอยู่ก็ใช้ปัญญาศึกษาให้ดี มิใช่ว่าอ่านจำ เอาตามตำรา รู้ไปตามตำราเท่านั้น แม้แต่อุบายการปฏิบัติที่มีตำราสอนกันอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ต้องศึกษาให้เข้าใจให้รู้จักที่ไปที่มาด้วยเหตุด้วยผล เพื่อไม่ให้เกิดความเห็นผิด ถ้าความเห็นผิดเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อไร การปฏิบัติอย่างไรและวิธีใด ก็จะกลายเป็นมิจฉาวายามะ มีความเพียรผิด ต่อไป จะกลายเป็นมิจฉาปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว งานทางโลกก็มีโอกาสแก้ไขให้ถูกได้ การทำผิด การพูดผิด ก็ยังมีเวลาให้แก้ตัว ส่วนการภาวนาปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของใจโดยเฉพาะ ถ้าปฏิบัติผิดเล็กน้อยก็พอจะแก้ไขได้ ถ้าปฏิบัติมีความผิดพลาดไปมาก ก็ยากที่จะแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้เลย ฉะนั้น ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ต้องศึกษาแนวทางปฏิบัติให้เข้าใจ หรือมีครูอาจารย์ ผู้ที่ท่านได้ผ่านการปฏิบัติ ที่ถูกต้องมาแล้ว ถ้าเป็นได้อย่างนี้ การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีความลังเลสงสัยในอุบายวิธีการปฏิบัติแต่อย่างใด หากมีวาสนาบารมีพร้อมแล้ว ก็จะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ในสัจธรรมบรรลุเป็นพระอริยเจ้าในชาตินี้ได้เลย

๕. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ตรรก คิดคำนวณด้วยการสุ่มเดาเอา ในวิธีการสุ่มเดานี้ จะมีความเสี่ยง ต่อความผิดพลาด ได้ง่าย เหมือนเดินทาง ถ้าไปด้วยการสุ่มเดา โอกาสเกิดความผิดพลาดมีสูง เช่น งานทางโลกที่ทุกคนทำกันอยู่ เมื่อทำด้วยความสุ่มเดา งานทุกประเภทจะเกิดความผิดพลาดได้ กว่าจะแก้ไขปรับปรุงให้เข้าที่ได้ก็เสียเวลาไปไม่น้อย หรืองานนั้นจะแก้ไขไม่ได้เลย การปฏิบัติธรรมอันมีความละเอียดอ่อน ถ้าสุ่มเดาถูกก็ถือว่าโชคดีไป ถ้าสุ่มเดาผิด การปฏิบัติก็จะเกิดมีปัญหา เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของใจโดยเฉพาะ ปฏิบัติทางกาย วาจา ก็เป็นอุบายวิธีเพื่อสำรวมเข้าไปหาใจ ฉะนั้น ใจจึงเป็นศูนย์รวมให้แก่หมวดธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าใจเป็นใหญ่ เป็นประธานให้แก่หมวดธรรมทั้งปวง
การปฏิบัติธรรม ต้องศึกษาด้วยสติปัญญาให้รู้ชัดว่า ธรรมหมวดใดควรจะปฏิบัติอย่างไร ธรรมหมวดใดควรละ ธรรมหมวดใดควรเจริญให้มาก ก็ต้องพิจารณาให้รู้ด้วยเหตุและผล มิใช่ว่าจะภาวนาปฏิบัติไปแบบสุ่มเดาเอา ถ้าหากสุ่มเดาผิด จะมีการพลิกล็อกเกิดขึ้นได้ ธรรมที่ควรละก็ไปทำให้มากขึ้น ธรรมที่ควรเจริญให้มาขึ้นก็กลับไปละทิ้งเสีย ก็เป็นลักษณะปฏิบัติแบบสุ่มเดาไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ เหมือนเล่นการพนันทุกประเภทด้วยการสุ่มเดา โอกาสที่จะถูกนั้น มีน้อยมากหรือไม่ถูกเลย หรือเหมือนกับการรับเหมาก่อสร้าง บ้านอาคารต่าง ๆ คิดคำนวณราคาแบบสุ่มเดา ผู้รับเหมามีแต่การขาดทุน บ้านอาคารคำนวณสุ่มเดาในการรับน้ำหนัก อุปกรณ์ในการก่อสร้าง ไม่ได้มาตรฐาน สิ่งก่อสร้างทั้งหมดทรงอยู่ได้ไม่นานก็จะทรุดตัวพังไปตาม ๆ กัน นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมด้วยความสุ่มเดา โอกาสในการปฏิบัติผิด นั้นมีสูง จะเลือกอะไรก็ตาม ถ้าสุ่มเดาจะเลือกถูกของจริงนั้นเป็นของยาก ส่วนมากจะถูกแต่ของปลอมที่ไม่มีคุณภาพอะไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นในธรรม ให้ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อนำมาปฏิบัติ ก็จะเกิดผลให้ได้รับ อย่างสนิทใจ การปฏิบัติแบบสุ่มเดาก็เหมือนคนตาบอดทำงานลูบคลำไปมาหาจุดไม่ถูก ว่าจะทำไปอย่างไร ธัมมปรามาส การลูบคลำในธรรม ที่จะนำมาปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นในการปฏิบัติในรูปแบบใด จับต้นชนปลายเกิดความสับสนไม่แน่ใจ ในที่สุดก็คือการสุ่มเดา ปฏิบัติไปบ้าง ถามหลวงพ่อหลวงตาไปบ้าง ถ้าถามถูกองค์ที่รู้จริงเห็นจริงในธรรมก็โชคดีไป ถ้าถามถูกองค์ที่กำลังสุ่มเดาเหมือนเรา ก็จะได้อุบายธรรมะมาปฏิบัติด้วยการสุ่มเดาต่อไป

๖. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า คาดคะเนตามหลักเหตุผลของปรัชญาเพียงอย่างเดียว นี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราควรวินิจฉัยให้ดี ในหลักปรัชญานั้นควรเชื่อถือได้เพียงใด เป็นเพียงหลักวิชาการเหตุผลของผู้อื่นได้ให้ความคิดเห็นเอาไว้เท่านั้น การคาดคะเนไปตามหลักการ อาจผิดได้ถูกได้ การคาดหมายว่าสิ่งนั้นควรเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้ควรเป็นอย่างนี้ ถ้าคาดการณ์เอาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง และตีความหมายเข้าข้างตัวเอง คาดคะเนในเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ถ้าในลักษณะนี้ ย่อมผิดจากความเป็นจริงไปได้เหมือนยุคปัจจุบันที่มีอุบายการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ก็เพราะตีความหมายในธรรม ให้เข้ากันกับความเห็นของตัวเองว่า ธรรมะหมวดนั้นควรเป็นอย่างนั้น ธรรมะหมวดนี้ควรเป็นอย่างนี้ มีอุบายวิธีตีความ ในหลักธรรมะ เข้ามาประกอบกับความเข้าใจของตน ให้มีความสัมพันธ์กลมกลืนกันไปในความหมายนั้น ๆ นำมาประสานให้เป็นเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อ้างอิงเอาธรรมะหมวดนั้นบ้างหมวดนี้บ้าง คาดคะเนเอาบ้าง ตีความหมายให้เข้ากัน กับที่คาดคะเนเอาไว้ เหมือนบางศาสนาเขาก็มีอุบายเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาประยุกต์ให้เข้ากันกับศาสนาเขาได้ ตีความหมายโยงใย ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความเชื่อถือได้ว่า ศาสนานั้น ๆ มีหลักคำสอนเหมือนกันกับ พระพุทธศาสนานั้นเอง
ฉะนั้น การคาดคะเนตามหลักเหตุผล ชาวพุทธด้วยกันก็ยังตีความหมายในหมวดธรรมมีความแตกต่างกันไป เช่น คำว่า พุทโธ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน การตีความในคำว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็มีการตีความที่แตกต่างกันไป นี้ก็เพราะการคาดคะเนตีความ ไปตามเหตุผลของแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน หรือคำว่า วิปัสสนา และคำว่า วิปัสสนาญาณ ก็ยังคาดคะเน ตีความหมายตามความเห็น ของตน มีเหตุผลมารองรับพอเชื่อถือได้ ใครที่ไม่มีสติปัญญารอบรู้จริงก็จะเกิดความเข้าใจว่าเป็นจริงอย่างนั้น ฉะนั้น การคาดหมาย คาดคะเน อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อว่าเป็นจริง ไปเสียทั้งหมด ถึงจะมีเหตุผลมารองรับอยู่ก็ตาม ถ้าเหตุผลนั้นไม่เป็นธรรม ก็เกิดความผิดพลาดจากหลักความเป็นจริงไปได้ เพราะทุกอย่างทุกเรื่องมันมีเหตุผลเป็นความจริงอยู่ในตัวมันเอง ใครจะตีความหมาย ให้เหตุผล ให้เป็นไปในอุบายอย่างอื่นก็ย่อมทำได้ ส่วนเหตุผล ที่เป็นจริงก็จะเป็นความจริงตลอดไป นักปราชญ์ก็มีเหตุผล ของนักปราชญ์ คนพาลก็มีเหตุผลของคนพาล ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้สอนธรรมก็มีเหตุผลเฉพาะตัว แต่เหตุผลของใคร มีความถูกต้อง ในความเป็นจริงในธรรมมากที่สุด นี้ก็ต้องเอาผลที่ได้รับนั้น พิจารณาไปหาเหตุ จะรู้ได้ทันทีว่า ความผิด ความถูก เนื่องด้วยเหตุอะไร จะตัดสินใจได้ทันที

๗. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ตรึกตามอาการ คำว่า ตรึก ในความหมายง่าย ๆ ก็คือนึกขึ้นได้นั้นเอง คำว่า ตรอง ก็หมายความว่าพิจารณา ฉะนั้น การตรึกหรือนึกขึ้นได้ในสิ่งใดเรื่องอะไร อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่า การตรึกได้อย่านั้น จะมีความถูกต้อง ไปเสียทั้งหมด ตรึกผิดก็เป็นไปได้ หรือตรึกถูกก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะการตรึกนี้เกิดจากความเห็นส่วนลึกของใจ ถ้าความเห็นผิดก็ตรึกผิด ถ้าความเห็นถูกก็ตรึกถูก จะรู้ว่าการตรึกนั้นผิดหรือถูกก็ใช้วิธีการตรอง หมายถึง การพิจารณาในการตรึกนั้นว่า ตรึกในสิ่งใด ตรึกในทางโลกหรือตรึกในทางธรรม นำการตรึกนั้นมาพิจารณาให้เข้าใจ ว่าตรึกอย่างไรพอเชื่อถือได้ ตรึกอย่างไรเชื่อถือไม่ได้ ตรึกในเรื่องดีหรือตรึกในเรื่องชั่ว ถ้าเห็นว่าตรึกในเรื่องชั่วก็ตัดทิ้งไป อย่าได้เชื่อในการตรึกอย่างนั้น คำว่า ตรึก ในความหมายหนึ่ง เรียกว่าระลึกขึ้นได้ เช่น ระลึกตามอาการของจิต อาการของจิต อารมณ์ของจิต ยังตกอยู่ในสังขาร เรียกว่า สังขารจิต สังขารจิตนี้เองจะไปตรึกในสมมตินั้นบ้าง ตรึกในสมมตินี้บ้าง จึงอย่าได้เชื่อว่าการตรึกอย่างนี้ เป็นธรรมอันจะนำไปสู่ ความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงได้ เพราะการตรึกอย่างนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดเป็นสังขาร การปรุงแต่งไปตามสมมติทั้งหลาย จึงอย่าได้เชื่อในการตรึกว่า ถูกต้องทั้งหมด ประการหนึ่ง ผู้ทำสมาธิมีจิตสงบอยู่บ่อย ๆ หรือมีความสงบอยู่นาน ๆ จิตได้วางเฉยอยู่ อาจจะตรึกไปในภูมิธรรมต่าง ๆ ได้ เพราะอาการของจิต ในขณะนั้นไม่มีอะไร จะเกิดความเข้าใจตรึกขึ้นมาว่า นี้เป็นภูมิธรรมของ พระอริยโสดาบันบ้าง เป็นภูมิธรรมของพระสกิทาคามีบ้าง เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามีบ้าง เป็นภูมิธรรมของพระอรหันต์บ้าง อาจตรึกไปว่าอาการของจิตอย่างนี้เป็นปฐมฌานบ้าง เป็นทุติยฌานบ้าง เป็นตติยฌาน เป็นจตุตถฌาน เป็นรูปฌาน เป็นอรูปฌานไปบ้าง ฉะนั้น การตรึกอย่างนี้จะเชื่อถือไม่ได้เลย เป็นการตรึกที่เกิดจากความเห็นผิดความเข้าใจผิด กลายเป็นผู้สำคัญผิด ในอาการอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าได้เชื่อเพียงสักว่าตรึกตามอาการ ก็เป็นในลักษณะอย่างนี้นี่เอง ถ้าผู้มีสัมมาปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญารอบรู้ในเหตุและผลและรอบรู้ในหลักสัจธรรมความเป็นจริงอยู่แล้ว สิ่งทั้งหมดนี้จะไม่มีการตรึกในลักษณะนี้เลย และไม่เชื่อว่าการตรึกอย่างนี้มีความถูกต้องแต่อย่างใด มีปัญญารอบรู้อยู่ว่าลักษณะอาการอย่างนี้ยังตกอยู่ในสังขาร เกิดขึ้นแล้วดับไปไม่คงที่

๘. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ชอบใจที่เข้ากันได้กับทิฏฐิของเรา ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น เป็นอุบายในการปฏิบัติได้อย่างดี ส่วนมากคนเราจะเข้าใจว่า สิ่งใดที่ได้มาจะเป็นที่ถูกใจในความเห็นของเรา ใครทำถูกใจในความเห็นของเรา ใครพูดที่ถูกใจในความเห็นของเรา ใครให้อะไรมาก็เป็นที่ถูกใจของเรา และเชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเข้ากันได้กับความเห็นของเรา จะมองในสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีไปเสียทั้งหมด จะทะนุถนอมรักษาไว้ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงไป ความชอบใจในสิ่งใด ความเข้าใจว่าสิ่งนั้นจะอยู่กับตัวเอาไปตลอด จะเป็นสามีภรรยา ลูกหลาน ตลอดจนสิ่งที่น่ารักทั้งหลาย ก็เห็นว่า มีความชอบใจ ไปเสียทั้งหมด โดยไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นจะทำให้เราเกิดความทุกข์ใจได้ มีแต่ความหลงใหลไปว่า สิ่งนั้นเป็นของเราจริง ๆ คิดว่าสิ่งทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันไปได้ตลอดกาล ไม่เข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงนั้นเป็นสังขารที่ตกอยู่ใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ทั้งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และสูญสลายจากกันไป เมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไปตามความจริงเมื่อไร ใจที่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่สบายใจในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีความทุกข์ใจในสิ่งที่เรากำลังยึดถือ และเสียใจในสิ่งที่สูญสลาย จากตัวเอาไป พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า อย่าได้เชื่อเพียงสักว่าชอบใจในสิ่งนั้น และอย่าได้เชื่อว่าสิ่งนั้น จะเข้ากันได้กับความเห็น ของเรา ถ้าทิฏฐิมีความเห็นไปในทางที่ผิด ความชอบใจก็ชอบไปในทางที่ผิดเช่นกัน
ประการหนึ่ง ให้พิจารณาในความเห็นของเราว่า ขณะนี้เรามีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิหรือมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดในธรรม ถ้าหากเราได้ฟังธรรมตรงตามความเห็นของเรา ก็จะเกิดความชอบใจว่า ธรรมนั้นเข้ากันได้ กับความเห็นของเรา ฉะนั้น การฟังธรรม อย่าเอาแค่เพียงชอบใจเท่านั้น ต้องฟังเอาเนื้อหาสาระ ฟังเอาความหมายในเหตุผล ว่าธรรมนั้น ถูกต้อง ตามความเป็นจริงหรือไม่ อย่าเอาความถูกใจ มาเป็นตัวตัดสินว่าธรรมนั้นดีแล้ว ให้เอาความถูกต้อง ในหลักความเป็นจริง มาเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาด ว่าเป็นไปใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริง ๆ เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้าธรรมใด ไม่เป็นไปตามไตรลักษณ์ ถึงจะมีความชอบใจในธรรมนั้น อยู่ก็ตาม ก็อย่าได้เชื่อว่า ธรรมนั้นเป็นแนวทางที่ตรง ต่อมรรคผลนิพพานได้ ขอผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จงฝึกสติปัญญาและเหตุผลของเราให้ดี มีอะไรเกิดขึ้น จะได้นำมาแก้ปัญญา ให้แก่ตัวเองได้ จะไม่เชื่อแบบงมงายไปตามความเห็นดังที่เคยเป็นมา เพราะความชอบใจเป็นไปในความเห็นผิด ก็จะเกิดความหลงผิดต่อไป

๙. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ผู้พูดเป็นที่น่าเชื่อถือได้ นี่ก็เป็นอุบายในการฝึกตัวเองอีกวิธีหนึ่ง ถึงผู้พูดจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้ก็ตาม เรื่องที่ท่านพูดนั้น เราอย่างเพิ่งน้อมใจเชื่อเลยทีเดียว ให้เอาเรื่องที่ท่านพูดนั้นมาพิจารณาในเหตุผลว่า เรื่องที่ท่านพูดนั้น มีเหตุผลพอเชื่อถือได้หรือไม่ ให้ใช้ปัญญาวิจัยวิเคราะห์ตีความหมายในเรื่องที่ท่านพูดนั้นให้เข้าใจ เมื่อมีเหตุผลพอเชื่อถือได้ จึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง ถ้าเชื่อเร็วเกินไป จะเกิดความงมงายตามมา ทุกอย่างจะต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้แยบคาย มิใช่ว่าจะเชื่อแต่ผู้อื่นพูดให้ฟังเพียงฝ่ายเดียว ดังมีบุคคลประกอบในการตัดสินในความเชื่อดังนี้ ในสมัยครั้งพุทธกาล มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เพื่อจะนำไปปฏิบัติในสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้แล้ว ก็จดจำเอาธรรมนั้น ใส่ใจไว้ เป็นอย่างดี ใจขณะเที่ยววิเวกภาวนาปฏิบัติอยู่นั้น บังเอิญไปพบพระสารีบุตร จึงได้สนทนาธรรมกับพระสารีบุตรว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามาอย่างนี้ ๆ ท่านพระสารีบุตรจะเชื่อหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรตอบว่าไม่เชื่อ พระเหล่านั้นได้ฟังพระสารีบุตรว่า ไม่เชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้า จึงได้นำเรื่องนี้กลับไปเล่าถวาย ให้พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบ ตามเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างนี้ ๆ
พระพุทธเจ้าจึงให้พระเหล่านั้นไปนิมนต์พระสารีบุตรเข้าเฝ้าทันที พระพุทธเจ้าได้ถามพระสารีบุตรว่า ธรรมที่เราตถาคตได้อธิบายให้พระเหล่านี้ฟัง พระสารีบุตรไม่เชื่อจริงหรือไม่ พระสารีบุตรกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าถามต่อไปว่า ทำไมจึงไม่เชื่อธรรมของเราตถาคต พระสารีบุตรกราบทูลว่า ธรรมหมวดนั้น ข้าพระองค์ยังไม่ได้พิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงก่อนพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่ภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเป็นปราชญ์ผู้ฉลาดในธรรม ไม่เชื่ออะไรง่ายดาย ตราบใดที่ยังไม่รู้เห็นด้วยปัญญาของตนเอง พวกเธอทั้งหลายควรเอาเป็นแบบอย่าง ธรรมใดที่ฟังไปแล้ว ให้นำมาพิจารณาด้วยปัญญาของตัวเอง ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พร้อมทั้งเหตุและผล ให้มีความเข้าใจในธรรมนั้นแจ่มแจ้งเฉพาะตัว นั้นแลจึงตัดสินใจเชื่อในภายหลัง มิใช่ว่าฟังธรรมแล้วก็เชื่อตาม ๆ กัน ถ้าเป็นในลักษณะนั้น จะมีแต่ความโง่เขลาเป็นสมบัติของตัวเอง นี้พวกเราทั้งหลายเมื่อได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ควรจะเอาเป็นแบบอย่าง ในการฝึกตัวเอง อ่านหนังสือธรรมก็ดี ฟังเทศน์ก็ดี อย่าเพิ่งตัดสินเชื่อเลยทีเดียว ให้ใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุผล จนเกิดความรู้จริงเห็นจริง ตามความจริงก่อน จึงเชื่อในภายหลัง ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นผู้งมงายไปจนตลอดวันตาย

๑๐. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า สมณะนั้นเคยเป็นครูของเรา ในความหมายในข้อนี้มี ๒ ประโยค ๑. อย่าได้เชื่อ ๒. เพียงสักว่า สมณะนั้น เคยเป็นครูของเรา ดังจะได้อธิบายขยายในความหมายทั้งสองประโยคนี้ให้เข้าใจ

ข้อ ๑. คำว่า อย่าได้เชื่อ หมายถึง อย่าได้เชื่อว่า สมณะองค์นั้น จะมีความเห็นที่เป็นธรรมถูกต้องไปเสียทั้งหมด ถึงท่านจะเป็นนักบวช ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อาจผิดพลาดได้ ความเข้าใจของท่านอาจผิดได้ถูกได้ตามความเห็นของท่านเอง เมื่อได้ฟังท่านพูดในเรื่องอะไร ก็อย่างเพิ่งน้อมใจเชื่อ เลยทีเดียว ให้เอาเรื่องที่ท่านผู้นั้นพูดมาพิจารณาก่อนว่า เรื่องที่ท่านพูดมีเหตุผลพอเชื่อถือได้ หรือเชื่อถือไม่ได้เพียงใด เพราะเรื่องของท่าน พูดเพียงเป็นเหตุ แล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณาดูผลที่จะเกิดขึ้นว่าจะออกมาในลักษณะใด ให้เข้าใจในผลที่จะเกิดตามมา ว่าผิดถูกชั่วดีอย่างไร มิใช่ว่าท่านเคยเป็นครูของเราแล้วจะเชื่อเลยทีเดียว ฉะนั้น จงฝึกตัวให้เราเป็นผู้มีนิสัยอย่าเชื่อในสิ่งใดเร็วเกินไป ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นผู้มีนิสัยเชื่ออะไรที่งมงายโดยไม่รู้ตัว ถึงท่านนั้นจะมีบุญคุณต่อเรา เคยสงเคราะห์เรามาในสิ่งต่าง ๆ แล้วก็ตาม ก็ต้องแยกออกจากกันเป็นคนละส่วน บุญคุณก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ความถูกต้องก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ท่านเคยเป็นครูเรามาก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มิใช่ว่าท่านมีบุญคุณต่อเราและเคยเป็นครูอาจารย์เรามา ท่านว่าอย่างไรเราก็จะน้อมใจเชื่อรับเอาทั้งหมด เราต้องฝึกตัวให้เป็นผู้รู้เหตุรู้ผล ให้รู้จักผิดถูกชั่วดี ว่าอะไรควรเชื่อถือได้ อะไรไม่ควรเชื่อถือ อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ก็ต้องรู้กันด้วยเหตุและผล ก็จะเลือกเอาความถูกต้องนั้นได้ ฉะนั้น เราจงฝึกสติปัญญาให้ดี ฝึกจนมีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ อยู่เสมอ ฝึกความสังเกต ฝึกคิดพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดเป็นนิสัย ฝึกวิจัยวิจารณ์วิเคราะห์ใคร่ครวญในสิ่งนั้นให้เข้าใจว่า เหตุอย่างนี้จะมีผลเป็นอย่างนั้น ผลเป็นอย่างนั้นเกิดจากเหตุอย่างนี้ ถ้าฝึกนิสัยให้เป็นไปในลักษณะนี้ ชื่อว่าผู้นั้นชื่อว่าฝึกปัญญา ฝึกความฉลาดรอบรู้ให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง ปัญญาเดิมเรามีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยฝึก ให้เราได้เริ่มฝึกปัญญาเรานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้ฝึกคิดพิจารณาตามหลักความจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และฝึกคิดพิจารณาว่าไม่มีสิ่งใดเป็นของเราที่แน่นอน อีกไม่นานก็จะพลัดพรากจากกันดังนี้

หนังสือปัญญาอบรมใจที่ข้าพเจ้าได้อธิบายในเรื่องสัปปุริสธรรม ๗ เรื่องกาลามสูตรนี้ เป็นอุบายที่จะนำไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี คิดว่าผู้อ่านจะเข้าใจความหมายในธรรมแต่ละข้อ พอจะนำไปปฏิบัติได้ กิริยาวาจาของเรามีความบกพร่องที่ตรงไหน เราต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น มิใช่ว่าจะปล่อยเรี่ยราดไปตามความคะนองของตัวเอง และก่อให้เกิดปัญหาในสังคมทั่วไป อยากทำอะไรก็ทำไปตามใจชอบ จะพูดอะไรก็พูดไปตามที่อยากจะพูด จึงเป็นผู้หลงลืมตัวไปตามมานะอัตตา จนทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะการทำการพูดของเรา ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านหนังสือนี้แล้วจงปฏิบัติตัวเองให้เป็นไปตามธรรม ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายนี้ด้วยเทอญ.

พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น