ศึกษาเรียนรู้

29.8.62

สมาธิฝรั่งสมาธิพุทธ


สมาธิในสังคมฝรั่ง
การทำ สมาธิมีอยู่ในทุกสังคมทุกเผ่าพันธุ์ และทุกศาสนา
การทำสมาธิของพุทธศาสนานั้นเป็น สัมมาสมาธิปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
สมาธิที่ฝรั่งนิยมกันนั้น ถ้ามิได้เกิดปัญญาเข้าใจอริยสัจสี่ ก็มีผลแค่คลายทุกข์เท่านั้น ดับทุกข์ไม่ได้
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเปรียบเทียบการทำสมาธิในสังคมฝรั่งกับสัมมาสมาธิแบบพุทธ ไว้ในคอลัมน์ สยามรัฐหน้า 5วันที่19 กรกฎาคม 2516 มีเนื้อหาดังนี้
เมื่อสองสามวันนี้ ได้อ่านบทความจากต่างประเทศเรื่องการทำสมาธิในเมืองฝรั่งแล้วลองอ่านดู
จับความได้ว่าในขณะนี้ฝรั่งทำสมาธิกันมากเริ่มต้นจากพวกนักดนตรีคณะบีตเติลส์ หรือที่ไทยเรียกว่าเต่าทองนั้นสนใจสมาธิ และเรียนจากครูชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า มหาฤาษี มเหศวร์ โยคี
การทำสมาธิเป็นแฟชั่นเรื่อยมาโปรดสังเกตว่าเป็นแฟชั่น
ในเวลานี้มีคนทำสมาธิกันมากมาย เช่นที่อังกฤษ คนที่เรียนสมาธิจากสำนักแห่งหนึ่ง มีสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกอาวุโสแห่งโรงละครเช็คสเปียร์หลวง นักเขียนบทความหนังสือพิมพ์ คนกวาดฝุ่น แอร์โฮสเตส พนักงานเทศบาล หัวหน้าวงดนตรีมีชื่อ ผู้ตรวจการสาธารณสุข นักเขียนนวนิยาย คนขายของข้างถนน และนายพันโททหารบก
นักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่งที่ต้องนั่งรถไฟไปทำงาน ใช้ยางอุดหูแล้วทำสมาธิบนรถไฟทั้งไปทั้งกลับ
ตามฐานทัพอเมริกันในอังกฤษนั้นได้เปิดอบรมสมาธิกันหลายแห่ง
มหาวิทยาลัยห้าแห่งในอังกฤษกำลังดำริที่จะเปิดหลักสูตรสอนสมาธิ
สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ที่รัฐคาลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกากำลังทำการวิจัยสมาธิ เพื่อให้รู้ผลทางกายของสมาธิ และก็ค้นพบว่าการทำสมาธิทำให้การชุมนุมของธาตุแล็คเตทในเลือดมีน้อยลง
ธาตุแล็คเตทนั้นเมื่อมารวมชุมนุมกันในเลือดของใครมากเข้า จิตใจของคนนั้นก็จะขุ่นมัว มีวิตกวิจารและมีกังวลมากเมื่อธาตุนั้นชุมนุมกันน้อยลง ความกังวลตึงเครียดก็น้อยลง
บทความนี้เขาบอกว่าในการทำสมาธินั้นจะต้องทำใจให้พ้นกังวลไม่คิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ เสียก่อน...........
การทำให้จิตว่างจากกังวลหรือเรื่องราวต่าง ๆ นี้จะทำอย่างไรเขาก็ไม่บอกไว้
บอกไว้แต่ว่า ทิ้งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เสียให้สิ้น อย่าไปนึกถึงมัน
เมื่อทำได้ดังนี้แล้วก็ให้ร่ายมนตร์
มนตร์นี้เป็นคำพยางค์เดียวในภาษาสันสกฤตซึ่งผู้อบรมสมาธิจะสอนให้
เขาไม่ได้บอกไว้ด้วยเป็นคำอะไร แต่ก็เห็นจะพอเดาได้ว่า คงจะเป็นคำว่า โอม
เพราะคำนี้เป็นคำพยางค์เดียวในภาษาสันสกฤตที่ออกจะศักดิ์สิทธิ์มาก
การร่ายมนตร์ก็คือ การกล่าวคำนี้ในใจเรื่อยไป โดยไม่ต้องออกเสียง
คำพยางค์เดียวนี้ก็จะเป็นความคิดอันเดียวในจิต
และมีอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะเลิกทำสมาธิ
เมื่อจิตเลิกคิดวุ่นวาย มาใช้แต่ความคิดอันเป็นความคิดที่ไม่แจกลูกแจกหลานดังนี้ จิตก็ไม่วุ่นวายและได้พักจริง ๆ เพราะไม่ต้องทะยานไปตามความคิดยุ่งเหยิงสับสนที่จะต้องเกิดขึ้นในจิตเรื่อย ๆ
ทำได้อย่างนี้แล้วเป็นอย่างไร ?เขาบอกว่าสมาธิทำให้จิตขึ้นอยู่เหนือเรื่องธรรมดาโลก จิตนั้นสงบ
มองดูเห็นสีต่าง ๆ ในโลกสดขึ้นปัญหาต่าง ๆ ในโลกนั้นเบาขึ้น
จิตนั้นมีพลังยิ่งขึ้น และผู้ที่เป็นเจ้าของจิตหายตึงเครียดทางใจ ชีวิตมีค่ายิ่งขึ้น และจะเลิกใช้ชีวิตนั้นอย่างวุ่นวายรีบร้อนดูไปแล้วก็ไม่เหมือนกับสมาธิในทางพุทธถ้าจะพูดกันอย่างใจแคบ จะเรียกสมาธิของฝรั่งว่า มิจฉาสมาธิก็คงจะได้กระมัง
สมาธิในศาสนาพุทธนั้น ท่านสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก
เพราะจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ธาตุคิด นั้น จะไม่ทำอะไรนอกจากคิดแต่อย่างเดียว
คิดเรื่องเล็กแล้วก็ไปคิดเรื่องใหญ่ ยิ่งคิดมากความคิดนั้นก็พัวพันกันยิ่งขึ้น เกิดเป็นความคิดใหญ่โต ซึ่งมีแต่จะใหญ่ขึ้นไปและยุ่งขึ้นไปในที่สุดก็เลยคิดไม่ออกที่สำคัญนั้นก็คือเมื่อคิดไม่ออกก็เลยมองไม่เห็นความจริงแห่งชีวิตที่ท่านเรียกว่าอริยสัจ
เมื่อมองไม่เห็นอริยสัจ ชีวิตก็มีแต่ทุกข์ความทุกข์ปลีกย่อยในชีวิตนั้นมีทางดับได้หลายทาง
สมาธิฝรั่งนั้นก็อาจเป็นทางหนึ่งแต่ความทุกข์เที่ยงแท้ดั้งเดิมคือทุกข์ในอริยสัจนั้น ไม่มีใครดับได้
นอกจากจะรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุแห่วงทุกข์ การดับแห่งทุกข์ และทางปฏิบัติที่จะไปถึงความดับแห่งทุกข์
เรื่องเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง จะรู้กันด้วยการเล่าเรียนหรือใช้เหตุผลไม่ได้ ต้องเข้าถึงตัวทุกข์และเหตุแห่งทุกข์นั้นด้วยตนเองถ้าใจยังวุ่นวายอยู่ก็ไม่มีมีวันเข้าถึง
เพื่อให้จิตเลิกยุ่งกับเรื่องภายนอก ท่านจึงสอนให้ดึงจิตเข้ามาไว้ข้างใน ให้พิจารณาอะไรในตัวซึ่งเป็นของง่ายที่สุด และธรรมดาที่สุด คือลมหายใจของตัวเองง่ายเสียจนเด็ก ๆ ก็ทำได้แต่เมื่อทำแล้วจิตก็เป็นสมาธิ และจิตในสมาธินั้นเองจะเข้าถึงทุกข์ได้วิธีอะไรที่มีเหตุผลมากกว่าเพื่อน วิธีนั้นก็น่าจะถูกกว่าเพื่อน
อ่านเรื่องสมาธิฝรั่งแล้ว ก็ยังเห็นว่าสมาธิในพระพุทธศาสนาเป็นสัมมาสมาธิอยู่ไม่หย่อนศรัทธาลงไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น