การเสริมสร้างความสุขให้กับชีวิตไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจเราทั้งนั้น สุภาษิตที่ว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ"เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่า ไม่ว่าจะสุขหรือจะทุกข์มันก็อยู่ที่ใจของเราทั้งนั้น ดังนั้นหากท่านต้องการสร้างความสุขท่านก็ต้องเริ่มที่ใจของท่านก่อน
สิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อสร้างความสุขประการแรกคือ ท่านต้องฝึกให้ตัวท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดี "แม้โลกใบนี้จะไม่ได้สวยหรูดังเช่นในนิยาย แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายดังในละคร" ท่านต้องลองมองโลกในแง่ดีบ้าง บางอย่างที่ท่านมองที่ท่านคิด อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่ท่านคาดไว้เสมอไป สิ่งที่ท่านมองในแง่ร้ายเสมอมา หากท่านมองโลกในแง่ดีแล้วละก็ อาจจะทำให้ท่านมองเห็นเรื่องดีๆที่ซ่อนอยู่ก็ได้และอาจทำให้ท่านมีความสุขมากกว่าเดิม เช่น หากท่านเกิดความทุกข์ ท่านก็ลองมองโลกในแง่ดีว่า ถ้าเราไม่ทุกข์ในวันนี้ เราก็ไม่รู้หรอกว่าความสุขนั้นมีค่าแค่ไหน หรือหากท่านทุกข์จากการโดนนินทา ท่านก็ลองมองในมุมกลับว่า คนเราเกิดมาไม่มีใครหรอกที่ไม่โดนนินทา แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังโดนนินทาประสาอะไรกับเรา ดีเสียอีกเขานินทาเรา ได้แสดงว่า เขาสนใจเราตลอดเวลาไม่ต่างอะไรกับที่เราเป็นดารา เป็นต้น
สิ่งที่ท่านต้องทำประการต่อมาคือ อย่าเก็บเอาทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาเอามาใส่ใจ ทุกๆวันมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากท่านเก็บทุกเรื่องมาใส่ใจหมด ท่านจะมีความสุขได้อย่างไร บางเรื่องคนอื่นๆไม่ได้คิดไม่ได้ใส่ใจ แต่ท่านเก็บเอามาคิดเท่ากับเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวท่านเอง หากจะเรียกง่ายๆก็คือ "ปล่อยวางเสียบ้าง" ถ้าจะเก็บเอามาใส่ใจก็เก็บเฉพาะเรื่องที่ดีที่น่าจดจำ เช่น ประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองและบุคคลรอบข้าง หรือประสบการณ์ดีๆในชีวิตที่ผ่านมา เป็นต้น
ประการสุดท้ายคือ การสวดมนต์และนั่งสมาธิ การสวดมนต์และนั่งสมาธิทำให้จิตใจสงบและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เป็นกุศลเป็นการตัดความทุกข์ความวุ่นวายออกจากชีวิตชั่วขณะ เมื่อจิตใจท่านสงบแล้ว ท่านก็จะไม่นึกถึงเรื่องทุกข์และท่านก็จะมีความสุขมากขึ้น
ความสุขท่านสามารถสร้างได้ด้วยตัวของท่านเอง จะสุขจะทุกข์อยู่ที่ใจท่าน ไม่มีใครสามารถช่วยท่านได้ ดังนั้นหากท่านต้องการสร้างความสุขให้แก่ตัวท่านแล้วละก็ ลองใช้วิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว เริ่มเสียแต่เวลานี้ เพราะ "สุขใดที่ใครสร้าง หรือจะสวยงามเท่าสุขที่เราสร้างเอง"!!
โดย.....นายวีระชัย จันทร์สุข
งานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น