ศึกษาเรียนรู้

2.7.66

การบริหารเจ้านาย

 การบริหารเจ้านาย (Managing your boss) 

ในระยะหลัง ๆ เราไม่ค่อยได้ยินคำว่าการบริหารเจ้านาย (Managing your boss) กันมากนัก เพราะด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้เราต้องหันไปสนใจเรื่องของการทำอย่างไรให้องค์กรอยู่รอดให้ได้ในสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ถ้าเราต้องการที่จะทำงานอย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพมาก นอกจากผู้จัดการที่ต้องทำหน้าที่บริการจัดการลูกน้องของตนเองแล้ว ตัวลูกน้องเอง ก็ต้องทำหน้าที่ในการบริหารเจ้านายของตนเองด้วยเช่นกัน

หลายคนที่ไม่เคยได้ยินคำนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ลูกน้องจะไปบริหารเจ้านายได้อย่างไร คำตอบก็คือ บริหารได้ครับ การบริหารเจ้านายไม่ได้แปลว่า เราจะไปสั่งการหัวหน้าของเราให้ทำนั่น นี่ โน่น นะครับ แต่เป็นการบริหารจัดการความเข้าใจระหว่างกัน การบริหารความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างกันมากกว่า

ปกติแล้วลูกน้องที่บริหารเจ้านายได้ดี จะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในการทำงาน ทำงานเข้าขากันได้ดี สามารถดึงเอาจุดแข็งของนายมาใช้ และอุดจุดอ่อนของนายได้ด้วยการใช้จุดแข็งของเรา และความสามารถในการทำงานของเราเข้าไปช่วยได้

แนวทางในการบริหารเจ้านาย

  • ทำความเข้าใจบริบทในการทำงานของนายให้ชัดเจน ต้องเข้าใจให้ได้ว่า นายของเรามีภาระหน้าที่อะไร และได้รับมอบหมายงานอะไร เป้าหมายคืออะไรจากนายของนาย และที่สำคัญก็คือ นายของเรามีความกดดันในการทำงานในเรื่องอะไรบ้าง ตรงนี้เราสามารถสังเกตได้จากบรรยากาศในการทำงานกับนาย รวมทั้งเวลาที่มีประชุมงานร่วมกัน ก็สามารถบอกได้ว่า นายของเรามีแรงกดดันจากเรื่องอะไร
  • ทำความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของนาย สิ่งถัดไปในการบริหารเจ้านายก็คือ จะต้องทำความเข้าใจจุดแข็ง และจุดอ่อนของเจ้านายให้ได้ อะไรคือสิ่งที่นายของเราเก่งมาก และทำได้ดี อะไรที่นายของเรามีจุดอ่อน คนเราไม่ได้เก่งไปหมดทุกเรื่องแน่นอน ทุกคนต้องมีจุดแข็งและจุดอ่อนเสมอ
  • ทำความเข้าใจสไตล์การทำงานของนาย ต่อไปก็คือ ต้องเข้าใจวิธีคิด และวิธีการทำงานของนาย รวมทั้งสไตล์การทำงานของเจ้านายของเราให้ได้ นายบางคนเป็นประเภทลงรายละเอียดเยอะมาก บางคนเป็นประเภทบอกแค่เป้าหมาย จากนั้น ลูกน้องต้องไปลงรายละเอียดให้ บางคนเป็นพวกชอบติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด บางคนก็นานๆ ตามที ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราจะต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้บริหารเจ้านายได้อย่างดี
  • ประเมินตนเอง สิ่งต่อไปก็คือ เราต้องประเมินตนเองว่า เราเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนในเรื่องใดบ้างในการทำงาน โดยอาศัย แบบทดสอบก็ได้ หรืออาศัย Feedback ที่เคยได้รับจากเจ้านาย หรือจากเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ มาพิจารณา
  • หาจุดร่วมที่ดีที่สุด จากนั้นก็ให้พิจารณาหาจุดร่วมในการทำงานที่ดีที่สุด ระหว่างเรากับเจ้านายของเรา เมื่อเราเข้าใจจุดแข็งของนาย ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้นายทำงานโดยใช้จุดแข็งของเขาได้อย่างดีแล้ว ผลงานของนายก็จะดี แล้วนายก็จะมองเราว่ามีผลงานที่ดีเช่นกัน นอกจากนั้น ช่วยอุดจุดอ่อนของนาย เช่น นายเราไม่ค่อยลงรายละเอียด ซึ่งอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ข้อปลีกย่อย เราก็สามารถที่จะลงรายละเอียดเหล่านั้นแทนนายเราได้ เพื่อเป็นการอุดช่องว่างระหว่างกันตรงนี้

ถ้าเราทำได้อย่างที่กล่าวมาข้างต้น เราก็จะสามารถบริหารเจ้านายของเราได้อย่างดี ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา กับเจ้านายก็จะดีขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างกัน

จะเห็นได้ว่า การบริหารเจ้านายนั้น ก็คือ การบริหารความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดี ในการทำงานร่วมกัน ถ้าลูกน้อง และพนักงานคนไหนที่เข้าใจวิธีการบริหารเจ้านายในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น รับรองได้ว่า เราจะกลายเป็นมือขวาคนสำคัญของเจ้านาย และไม่ว่าเราจะไปทำงานกับเจ้านายคนไหน ก็จะกลายเป็นคนสำคัญของนายทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น