ศึกษาเรียนรู้

12.2.63

สุจิปุลิ

สุ จิ ปุ ลิ หัวใจของนักปราชญ์
รับคาถาบทนี้ไป ท่องทุกเช้าและปฏิบัติตาม......

สุ ย่อมาจากคำว่า สุตตะ แปลว่า การฟัง
จิ ย่อมาจากคำว่า จินตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจากคำว่า ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจากคำว่า ลิขิต แปลว่า การเขียน



การฟัง
ในบทความ การฟังอย่างตั้งใจ ความหมายที่ลึกซึ้งจากตัวอักษรจีน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษรย่อยทั้ง 6 ตัว ความลึกซึ้งของความหมายของตัวอักษรจีน TING กับความหมายของการฟังที่เราต้องใช้ทั้ง หู ตา และหัวใจ ให้ความสำคัญกับคนพูดและตั้งใจฟัง มีมารยาทในการฟัง

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการฟังคือ ความคิดของเราที่มันคิดไม่หยุด เราพยายามประเมิน พยายามเปรียบเทียบ พยายามเข้าใจ พยายามจัดเรียงความสำคัญ ว่าสิ่งนี้เราควรตั้งใจฟังหรือเปล่า เราต้องให้ความสำคัญไหม มันจะทำให้เราเสียเวลาหรือเปล่า ถ้าใจเรามัวแต่คิด เราก็จะไม่ตั้งใจฟัง

เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราต้องสื่อสารผ่านทางหน้าจอและคีย์บอร์ด เราสื่อสารด้วยการอ่านและการเขียน แต่ในอนาคตอันใกล้ ในวันที่เราสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง สิ่งที่ท้าทายคือ แล้วเราจะพูดยังไงให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ แยกแยะและจำได้ว่านี่คือเรา แล้วเราจะฟังคอมพิวเตอร์ให้รู้เรื่องได้ยังไง ในวันที่ทุกคนต่างก็ต้องพูดกับคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ต่อไปเราอาจจะต้องมีโค้ชเพื่อฝึกการพูด ฝึกการใช้เสียง

การฟังมีความสำคัญและเราต้องฝึกเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่มีความซับซ้อน คนเราเข้าถึงกันได้ง่าย เราทำความรู้จักและเรียนรู้จากคนแปลกหน้า เราค้นหาความหมายของชีวิตจากการคุยกับเพื่อนใหม่ ทำให้คนที่เราใส่ใจไม่ใช่แค่คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดเท่านั้น แต่เราจะขยายขอบเขตของมันออกไป ทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆ ทำให้เรายอมรับคนที่แตกต่างจากเรา ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ทำให้โลกนี้น่าสนใจและน่าอยู่มากขึ้น

การคิด
ในบทความ ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถที่ไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด แต่เป็นสิ่งที่เราพัฒนาได้เรื่อยๆ หลายคนมักจะหลีกเลี่ยงการคิด และมันก็เป็นธรรมชาติของเราทุกคน เพราะว่าวิวัฒนาการทำให้สมองเราพยายามใช้พลังงานในการคิดให้น้อยที่สุด ทำให้เราอยากทำอะไรเร็วๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เร็วๆ

อาการใจลอยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการไม่ใช้ความคิด เป็นการปล่อยให้ใจคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ปล่อยใจให้ล่องลอยไป จากความคิดหนึ่ง สักพักเราก็จะกระโดดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนลิงปีนต้นไม้

รูปแบบของการไม่ใช้ความคิดอีกแบบคือ การที่คิดแบบเดิมๆ ความคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เหมือนช้างที่ถูกล่ามโซ่ไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังตัวเล็กๆ ไม่มีกำลังมากพอที่จะหลุดและปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ และถึงแม้ช้างจะโตและมีกำลังมากพอ แต่ความคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ช้างต้องติดกับดักนั้นตลอดไป คนเราเองก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ย้อนกลับไปคิดทบทวน เราก็จะต้องติดกับดักนั้นเหมือนกัน

Critical thinking คือการไม่ด่วนสรุป เวลามีปัญหา แล้วเรารู้คำตอบ รู้วิธีแก้ไขปัญหา หลายครั้งเราก็มักจะลงมือแก้ไขปัญหานั้นทันที โดยที่ไม่คิดให้ดีก่อน และสุดท้ายก็จะพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่เราใช้มันทำให้เกิดปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่า หรือเราแก้ไขปัญหาแค่ปลายเหตุ แต่ต้นตอของมันก็ยังจะก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันได้อีก

Strategic thinking คือการประเมินสถานการณ์จากข้อมูลใหม่ๆ และปรับตัวปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมตามสถานการณ์นั้น เริ่มต้นจากการสงสัย การถามว่าทำไมเราต้องทำแบบนั้น มันอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่มันจะเป็นความรำคาญที่จำเป็น จากนั้นให้สังเกต กระโดดออกมาแล้วเฝ้ามองดูคนอื่นๆ ดูว่าเค้าทำยังไง เรียนรู้จากคนอื่นๆ สุดท้ายคือการสะท้อน สร้างพื้นที่ให้เราได้คิด

ไอเดียไม่ได้เกิดขึ้นเองจากความว่างเปล่า แต่มันมีที่มาเสมอ บางทีก็เกิดจากการชนกันของไอเดียเก่าๆ หรือเราแกะไอเดียเก่าแล้วประกอบเป็นไอเดียใหม่ ไอเดียก็เหมือนสายน้ำ ที่ไหลจากอดีตมายังปัจจุบัน ดังนั้นเวลาที่เราอยากได้ไอเดียใหม่ เราก็ต้องย้อนกลับไปในอดีต ลองนึกดูว่าคนสมัยก่อนเค้าคิดเรื่องอะไรกันบ้าง มันจะทำให้เราได้ไอเดียเร็วขึ้น

การถาม
ในบทความ การตั้งคำถามที่ดี การถามเป็นเรื่องสำคัญ ความอัศจรรย์ ทำให้เกิดความสงสัย และความสงสัยก็จะทำให้เราตั้งคำถาม

การตั้งคำถามคือการจัดระเบียบความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้ ตอนเด็กๆ ความอยากรู้ของเรามีมากจนทำให้เราต้องถามแล้วถามอีก แต่เมื่อเราเข้าโรงเรียน เราก็เริ่มหยุดถาม พอโตเป็นผู้ใหญ่ความสงสัยในวัยเด็กของเราก็หายไป ทำให้เราถามน้อยลง

ไอน์สไตน์พูดไว้ว่า ถ้ามีเวลาให้ 1 ชั่วโมงเพื่อแก้ปัญหา และถ้ามันเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของเค้า เค้าก็จะใช้เวลา 55 นาทีแรก สำหรับถามเพื่อให้มั่นใจว่าเค้ากำลังแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเวลา เสียทรัพยากรไปกับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ มนุษย์เราสามารถตั้งคำถามได้ การตั้งคำถามทำให้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ เมื่อเราถาม มันจะทำให้เรารู้ว่า นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้  และหลังจากนั้นก็หาความรู้เพื่อปิดช่องว่างของความรู้นั้น

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งที่เราต้องการที่สุดในชีวิตนี้ คือการตั้งคำถาม คำถามที่ดีจะช่วยให้เราแจกแจงปัญหา ค้นหาคำตอบ หาทางออกหรือเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นนวัตกรรม

การเขียน
การเขียนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงความคิดของตัวเองออกมา ธรรมชาติของความคิดเรามันจะไม่อยู่นิ่ง เรามักจะเปลี่ยนเรื่องคิดตลอดเวลา ดังนั้นการเขียนจึงเป็นการจับความคิด เป็นการบังคับใจให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับความคิดเดียว

ประโยชน์ของการเขียนมีมากมายที่หลายคนยังไม่รู้หรือมองข้าม การเขียนเป็นการฝึกสมอง กระตุ้นเซลล์สมองและทำให้ความจำดีขึ้น นอกจากจะช่วยให้เราสื่อสารและเรียนรู้ได้ดีขึ้น การเขียนยังมีประโยชน์ในการเยียวยารักษาจิตใจได้ด้วย การเขียนเป็นอาวุธที่ใช้สู้กับโรคทางใจ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า คนที่มีบาดแผลทางใจ

การเขียนบล็อก เขียนเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของตัวเอง เขียนเกี่ยวกับเป้าหมายส่วนตัวในชีวิต จากการศึกษาพบว่ามีประโยชน์ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้ลงมือทำตามเป้าหมาย นอกจากนั้นยังทำให้สมองหลั่งสารโดปามีนออกมาได้ด้วย

คนที่เขียนแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี ช่วยให้ลดระดับความเครียดลงได้ งานวิจัยในปี 2013 นักวิจัยชาวนิวซีแลนด์พบว่า การให้ผู้ป่วยที่จะต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจ เขียนเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของตัวเองวันละ 20 นาที เป็นเวลา 3 วัน ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูได้ดีมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เขียน เค้าสรุปว่าการเขียนช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น และช่วยลดความเครียดและความกังวลลงได้

ฟัง คิด ถาม เขียน
เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นทักษะที่เราต้องใช้อยู่ตลอดเวลา รับฟังให้มากขึ้น ใช้เวลาคิดทบทวน หากสงสัยก็ถามให้มั่นใจ สุดท้ายอย่าเก็บความคิดไว้ในหัว แต่ให้เขียนเก็บบันทึกไว้ที่อื่นเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น