ศึกษาเรียนรู้

29.8.62

สุข ทุกข์ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

สุข ทุกข์ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
“ รู้เท่า เอาไว้กัน รู้ทัน เอาไว้แก้ 
รู้ทั้งเท่าและทัน ได้ทั้งกันและแก้
รู้ไม่เท่า รู้ไม่ทัน  เรานั้นจะแย่ ”
โลกมีการเปลี่ยนแปลง  , ทางสังคมและวัฒนธรรม ,  ทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม, ทางร่างกาย และจิตใจ
  การรู้เท่าทัน หมายถึงความรู้อย่างลึกซึ้งถึง สาเหตุ และ ผล ของความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งการรู้ถึงคุณประโยชน์และโทษ  เข้าใจถึงขบวนการหรือวิธีการที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   หรือที่จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม 
การรู้จักหรือรู้เท่าทันความคิดของตนเอง
  เราควรพิจารณาตนเองว่า ที่เราวางเป้าหมายของชีวิตไปในแนวสุขนิยมนั้น  แล้วดำเนินชีวิตไปตามแนวที่เราวางไว้ ทำให้เราได้รับความสุขอย่างแท้จริงหรือไม่  อะไรคือความสุขที่แท้จริงที่ควรจะเป็น 
  โดยอาศัยสติปัญญาในการวิเคราะห์  สังเคราะห์ เพื่อให้รู้แจ้งในตน และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้เราจะต้องรู้จักปรับตัวให้เหมาะสม  ว่าจะตามกระแสสังคม หรือจะทวนกระแสสังคม ในเรื่องใด หรือจะคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดแบบ “ธรรมชาตินิยม” หรือจะเรียกว่ามีแนวคิด “แบบมนุษย์นิยม” ที่มีแนวดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง 

การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
  ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง แต่แรกเกิดจนตาย ไม่มีอะไรได้ดังปรารถนา เปลี่ยนคนเลี้ยง สถานที่เรียน การงาน คนรัก ครอบครัว ตกต่ำ ลำบาก เจ็บป่วย  จึงต้องเข้าใจ โลกธรรม คือสิ่งคู่โลกคู่ชีวิต ๔ คู่ ได้แก่ สุข – ทุกข์, นินทา – สรรเสริญ ได้ลาภ – เสื่อมลาภ,  ได้ยศ – เสื่อมยศ  
        ศาสนาพุทธยังสอนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงแห่งชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมายึดติด รู้เท่าทันสภาวะของชีวิตแล้วรู้ละ รู้วาง รู้ว่างอย่างสงบเย็นเห็นอริยสัจ
  การเปลี่ยนแปลงของสังคม  ย่อมทำให้เราสามารถน้อมรับความจริงในความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วยจิตใจที่มีความสงบ โดยหาหนทางปรับปรุงตนเอง  ปรับปรุงสังคม ให้เหมาะสม ด้วยการใช้สติปัญญา โดยไม่เห็นแก่ตัวและรู้จักเอื้อเฟื้อเกื้อกูลยืดหยุ่นเห็นแก่ผู้อื่น เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

 ความชั่ว กับ ความดี สิ่งไหนทำง่ายกว่ากัน ?
สุกรํ  สาธุนา สาธุ สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ 
ปาปํ  ปาเปน สุกรํ ปาปมริเยหิ ทุกฺกรํ 
ความดี อันคนดี ทำได้ง่าย
ความดี อันคนชั่ว ทำได้ยาก
ความชั่ว อันคนชั่ว ทำได้ง่าย
ความชั่ว อันคนดี ทำได้ยาก
(คนดี ทำดีง่าย ทำชั่วยาก    คนชั่ว ทำชั่วง่าย ทำดียาก)
กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามทิศทาง กระแสแห่งกรรม 

โดย.....นายวีระชัย  จันทร์สุข   

งานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น